ยาสามัญประจำบ้าน (Home Medication)

 ยาสามัญประจำบ้าน (Home Medication)

09.08
4105
0

“ยาสามัญประจำบ้าน” เป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ร้านขายของชำ เป็นยาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยาสามัญประจำบ้านส่วนใหญ่เป็นยาที่มีติดเอาไว้เพื่อบรรเทา รักษาอาการในเบื้องต้นที่บ้าน หรือก่อนไปโรงบาลหรือพบแพทย์ แต่ควรใช้ยาตามขนาด ปริมาณ เพศ อายุและคำแนะนำอื่น ๆ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

ยาสามัญประจำบ้านมีอะไรบ้าง

ยาสามัญประจำบ้าน’ คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาเอาไว้ว่าเป็นยาที่เหมาะสม ที่สามารถให้ประชาชนหาซื้อมาใช้ได้เองตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อีกทั้ง ยาสามัญประจำบ้านยังเป็นยาที่มีราคาถูกที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา ไปจนถึงร้านขายของชำทั่วไป อยากรู้แล้วใช่ไหมว่า ยาสามัญประจำบ้านมีอะไรบ้าง ชุดยาสามัญประจำบ้านที่ถูกระบุไว้มีทั้งหมด 53 ชนิด นำมาใช้รักษาโรคสามัญได้ทั้งหมด 16 กลุ่ม มีดังต่อไปนี้

รายการยาสามัญประจำบ้าน

  1. กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้ ประกอบไปด้วย
  • ยาเม็ดสำหรับบรรเทาอาการปวดและลดไข้ แอสไพริน
  • ยาเม็ดและยาน้ำสำหรับบรรเทาอาการปวดลดไข้ พาราเซตามอล โดยยาเม็ดจะมีขนาด 500 มก. และขนาด 325 มก.
  • พลาสเตอร์ช่วยบรรเทาอาการปวด
  1. กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ประกอบไปด้วย
  • ยาเม็ดแก้แพ้ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน
  1. กลุ่มยาแก้ไอ ขับเสมหะ ประกอบไปด้วย
  • ยาน้ำแก้ไอ ยาขับเสมหะสำหรับเด็ก
  • ยาแก้ไอน้ำดำ
  1. กลุ่มยาดม หรือยาทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก ประกอบไปด้วย
  • ยาดมแก้วิงเวียน เหล้าแอมโมเนียหอม
  • ยาดมแก้วิงเวียน และแก้คัดจมูก
  • ยาทาระเหย บรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
  1. กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ ประกอบไปด้วย
  • ยาแก้เมารถ ยาแก้เมาเรือ ไดเมนไฮดริเนท
  1. กลุ่มยาสำหรับโรคปาก และลำคอ ประกอบไปด้วย
  • ยากวาดคอ
  • ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า เยนเชี่ยนไวโอเลต
  • ยาแก้ปวดฟัน
  • ยาดมบรรเทาอาการระคายคอ
  1. กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ประกอบไปด้วย
  • ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง
  • ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซดามิ้นท์
  • ยาขับลม
  • ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซเดียมไบคาร์บอเนต
  • ยาทาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทิงเจอร์มหาหิงค์
  • ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา – แมกนิเซียม
  1. กลุ่มยาแก้ท้องเสีย ประกอบไปด้วย
  • ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่
  1. กลุ่มยาระบาย ประกอบไปด้วย
  • ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก
  • ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
  • ยาระบายแมกนีเซีย
  • ยาระบายมะขามแขก
  • ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ ชนิดสวนทวาร
  1. กลุ่มยาถ่ายพยาธิลำไส้ ประกอบไปด้วย
  • ยาถ่ายพยาธิตัวกลม อย่าง เบนดาโซล ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม
  1. กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย ประกอบไปด้วย
  • ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง
  1. กลุ่มยาสำหรับโรคตา ประกอบไปด้วย
  • ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์
  • ยาล้างตา
  1. กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง ประกอบไปด้วย
  • ยารักษาหิดเหา เบนซิล เบนโซเอต
  • ยารักษาหิด ขี้ผึ้งกำมะถัน
  • ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
  • ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
  • ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์
  • ยารักษาเกลื้อน โซเดียมไทโอซัลเฟต
  1. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ประกอบไปด้วย
  • ยารักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล
  • ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม
  1. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ประกอบไปด้วย
  • ยาไส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน
  • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล
  • ยาใส่แผล โพวิโดน ไอโอดีน
  • ยาไอโซโบรฟิล แอลกอฮอล์
  • ยาเอทธิล แอลกอฮอล์
  • น้ำเกลือล้างแผล
  1. กลุ่มยาบำรุงร่างกาย ประกอบไปด้วย
  • ยาเม็ดวิตามินบีรวม
  • ยาเม็ดวิตามินซี
  • ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต
  • ยาน้ำมันตับปลา ชนิดแคปซูล
  • ยาน้ำมันตับปลาชนิดน้ำ

Home Medication

วิธีใช้ยาสามัญประจำบ้านให้ถูกต้อง

การใช้ยาให้ถูกต้องนั้น ผู้ที่จะใช้ยาควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ เพื่อให้ได้ผลในการรักษาเต็มที่และเกิด ผลเสียจากการใช้ยาน้อยที่สุด โดยมีหลักว่าจะต้องใช้ยาให้ถูกกับโรค ถูกกับคน (เด็ก ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น) และใช้ยาให้ถูกเวลา ถูกวิธี ถูกขนาด ดังนี้

  1. ใช้ยาให้ถูกโรค หรือถูกขนาน ก่อนใช้ยาบำบัดหรือบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ควรศึกษาก่อนว่าอาการนั้นเกิดจากสาเหตุใด และควรใช้ยาขนานใดให้ตรงกับการแก้ปัญหาหรือสาเหตุนั้น เช่น ปวดท้อง เป็นเพราะท้องผูกหรือท้องเสีย หรืออาหารไม่ย่อย เป็นต้น การใช้ยาแก้ปวดท้องจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน
  1. ใช้ยาให้ถูกกับบุคคล ปฏิกิริยาการตอบสนองต่อยาในแต่ละบุคคลจะต่างกัน โดยเฉพาะต่างเพศหรือต่างวัย เด็กและคนชราจะตอบสนองต่อยาไวกว่าวัยกลางคน ยาบางชนิดใช้ได้กับสตรีเท่านั้น ยาบางชนิดห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และเด็ก เช่น เตตราซัยคลีน เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ควรนำยาของบุคคลหนึ่งมาใช้กับอีกบุคคลหนึ่งที่ต่างเพศต่างวัยกัน หากจำเป็นต้องศึกษาจากผู้รู้ก่อน
  1. ใช้ยาให้ถูกขนาด ให้ตรงกับขนาดที่ระบุเท่านั้น สำหรับการใช้ยาต้านจุลชีพ ไม่ว่าจะเป็นยาภายในหรือยาภายนอก จะต้องใช้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอจนกว่ายานั้นหมด สำหรับการลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานขนาดเดิมทันทีเมื่อนึกได้โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา การใช้ยาน้ำรับประทาน ควรใช้ช้อนตวงมาตรฐานที่ให้มากับยาเท่านั้น
  1. ใช้ยาให้ถูกเวลา ช่วงห่างของเวลาใละครั้ง ควรมีระยะเท่าๆ กัน อย่างเช่น ใช้ยาทุก 4 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับยาในเลือดสม่ำเสมอ ไม่ต่ำเกินไปคงที่ และมีการกำหนดว่าเป็นยาก่อนหรือหลังอาหารด้วย
  • ‘ยาก่อนอาหาร’ ต้องรัีบประทานยานั้นก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง จุดมุ่งหมายให้รับประทานยานั้นตอนท้องว่าง จะช่วยในการดูดซึมยาผ่านผนังกระเพาะอาหารเข้าสู่เส้นเลือดได้ดี นอกจากนี้ยาบางประเภท เช่น ยาปฏิชีวนะจะถูกทำลายได้ง่าย โดยน้ำย่อยอาหารที่หลั่งออกมาโดยอัตโนมัติ เมื่อเริ่มรับประทานอาหาร เป็นต้น
  • ‘หลังอาหาร’ จะรับประทานยานั้นภายหลังการรับประทานอาหารไปแล้วนานเท่าใดก็ได้ เช่น รับประทานยานั้นหลังจากเสร็จสิ้นการรับประทานอาหารทันที หรือ 15 นาทีไปแล้วก็ได้ แสดงว่ายานั้นไม่มีผลเสียต่อกระเพาะอาหาร และอาหารไม่มีผลต่อยานั้น แต่ถ้าระบุว่า ‘หลังอาหารทันที’ จะต้องรับประทานยานั้นหลังเสร็จสิ้นการรับประทานอาหารทันทีเท่านั้น เนื้องจากยานั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนผนังกระเพาะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้อาหารเป็นเกราะำกำบังไว้มิให้ยาสัมผัสกับผนังโดยตรง
  • ‘หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง’ การรับประทานยาเคลือบผนังกระเพาะอาหารหรือยาลดกรด เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เพื่อให้ยานี้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอาหารเป็นเครื่องกีดขวาง
  • การับประทานยาระบายแก้ท้องผูก ยานั้นจะออกฤทธิ์หลังจากรับประทานเข้าไปแล้ว 6-8 ชั่วโมง ดังนั้นหากต้องการให้เกิดการถ่ายอุจจาระในตอนเช้า จะต้องรับประทานยานี้ก่อนนอน
  • การรับประทานยาแก้อาเจียน แก้ปวดท้อง มักนิยมให้รับประทานก่อนอาหารเป็นเวลาประมาณ 20-30 นาที เพื่อมิให้เกิดอาการเมื่อเริ่มรับประทานอาหารเข้าไป
  • การรับประทานยาขับปัสสาวะ มักใช้ในโรคความดันโลหิตสูง เพื่อลดปริมาณน้ำในร่างกาย ซึ่งจะมีผลให้ความดันโลหิตลดลง นิยมให้มื้อเช้าหรือกลางวันเท่านั้น เนื่องจากถ้าให้มื้อเย็นจะทำให้คนไข้ต้องตื่นกลางดึกเพื่อลุกขึ้นมาปัสสาวะ

ก่อนเลือกซื้อ “ยาสามัญประจำบ้าน” ต้องดูอะไรบ้าง ?

  อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยา จัดยาโดยเภสัชกร หรือซื้อจาก“ร้านยาคุณภาพ”  และควรสังเกตฉลากยาโดยต้องแสดงเลขทะเบียนตำรับยา เช่น Reg. No. 1A 12/35 (กรณียาแผนปัจจุบัน) และฉลากจะต้องมีคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” อยู่ในกรอบสีเขียว ชื่อยา วิธีการใช้ยา คำเตือน วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีหมดอายุ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต รวมทั้งควรสังเกตภาชนะที่บรรจุยาต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ยาที่บรรจุอยู่ในสภาพดี สมบูรณ์ 

ใช้ “ยาสามัญประจำบ้าน” อย่างไรให้ปลอดภัย ?

  1. ต้องอ่านฉลากยาและเอกสารกำกับตัวยาให้เข้าใจก่อนใช้ยาทุกครั้ง จะได้ไม่เกิดความผิดพลาด
  2. ควรใช้ยาให้ถูกต้องตามที่เอกสารกำกับยาได้ระบุไว้ ห้ามใช้ยาเกินขนาดโดยเด็ดขาด !
  3. เลี่ยงการใช้ยาที่ผิดกับโรค เนื่องจากโรคบางอย่างต้องใช้ตัวยาในการรักษาที่ต่างชนิดกัน

เก็บ “ยาสามัญประจำบ้าน” อย่างไรให้ถูกต้อง ?

  1. ให้แยกยาออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน ตัวยาไหนสำหรับรับประทาน ตัวยาไหนสำหรับใช้ภายนอก
  2. ยาที่ดีจะต้องมีฉลากที่ระบุข้อมูลไว้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ตัวหนังสือไม่จาง ไม่ขาดหาย
  3. ต้องเก็บยาไว้ในที่ที่ไม่มีแสงแดด ไม่โดนความร้อน ไม่สัมผัสกับความชื้น หรืออยู่ใกล้กับเปลวไฟ
  4. ไม่ควรเก็บยาชนิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน เพราะอาจจะทำให้หยิบผิดได้
  5. ต้องเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก

อย่างไรก็ตามเนื่องจากยามีหลากหลายชนิดและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ยาควรเพิ่มความระมัดระวัง ใช้ยาให้ถูกโรค ถูกคน  ถูกเวลา และถูกขนาด  ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนดและไม่ควรวิเคราะห์สาเหตุของโรคแทนผู้อื่น หรือนำยาที่ตนเองเคยใช้ไปให้ผู้อื่นรับประทาน   ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาโดยไม่รู้ตัว

Комментарии (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *