อุณหภูมิ คือ การวัดค่าเฉลี่ยของพลังงานจลน์ซึ่งเกิดขึ้นจากอะตอมแต่ละตัว หรือแต่ละโมเลกุลของสสาร เมื่อเราใส่พลังงานความร้อนให้กับสสาร อะตอมของมันจะเคลื่อนที่เร็วขึ้น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แต่เมื่อเราลดพลังงานความร้อน อะตอมของสสารจะเคลื่อนที่ช้าลง ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง
คุณสมบัติทางกายภาพของสสารที่แสดงปริมาณทางความร้อนและความเย็น หรือระดับของความร้อนหรือความเย็นของวัตถุ เมื่อเราพูดถึงบางสิ่งที่รู้สึกร้อน (เช่นน้ำแกงจืดที่เราดื่มเมื่อไม่สบาย) หรือเย็น (เช่นหิมะโดยเฉพาะถ้าคุณไม่สวมถุงมือ) เมื่อเรากำลังพูดถึงระดับความร้อนซึ่งหมายถึงเป็นการรวมตัวกันของพลังงานที่มีอยู่ในสสารซึ่งเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของความร้อน และเกิดการไหลของพลังงานเมื่อร่างกายสัมผัสกับวัตถุอีกสิ่งหนึ่งที่เย็นกว่า
เนื่องจากมนุษย์รับรู้ปริมาณของความร้อนและความเย็นภายในวัตถุได้อย่างง่ายดายโดยการสัมผัสจึงเป็นที่เข้าใจว่าระดับความร้อนเป็นคุณลักษณะทางกายภาพที่เราเข้าใจได้ง่าย ระดับความร้อนวัดด้วยเทอร์โมมิเตอร์ โดยหน่วยการวัดระดับความร้อนมีหลายหน่วยแต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือองศาเซลเซียส (เขียนย่อ ° C) และฟาเรนไฮต์ (เขียนย่อ ° F) และเคลวิน (เขียนย่อเป็น K) ซึ่งส่วนใหญ่หน่วยเคลวินจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์โดยอนุสัญญาของ ระบบหน่วยสากล (SI)
โดยทั่วไป เรามักคุ้นชินกับคำว่า อุณหภูมิร่างกายปกติ จะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส หรืออาจจะแตกต่างจากนี้เล็กน้อยแล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ความเป็นจริงนั้น เรื่องของอุณหภูมิร่างกายมีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนกว่าที่เราคิด อย่างการเปลี่ยนแปลงของความร้อนในร่างกายก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเรานั้นจะป่วย หรือมีไข้เสมอไป
นอกจากนั้น โดยปกติของร่างกาย อุณหภูมิตอนเช้าจะต่ำกว่าอุณหภูมิตอนบ่าย หรือเย็น อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ หรือการออกกำลังกาย และระดับของฮอร์โมนในร่างกายอีกด้วย
โดยปกติแล้ว อุณหภูมิของร่างกายมนุษย์จะค่อนข้างคงที่ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากเท่าไรนัก แม้อุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม นั่นเป็นเพราะมนุษย์เรา มีกลไกในการรักษาสมดุลในร่างกาย คือเมื่อเจออากาศร้อน ร่างกายจะขับเหงื่อ หรือกระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำ หรือหากเจอสภาพอากาศที่เย็น จะรู้สึกหนาวและขนลุก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือกลไกที่ร่างกายพยายามจะรักษาสมดุลในตัวเองเอาไว้ เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของเราอยู่ในเกณฑ์ปกตินั่นเอง
อย่างไรก็ตามอุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องเกิดจาก ไข้ เสมอไป อาจเกิดจากการเสียสมดุลของ การสร้างความร้อน กับการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายชั่วคราว แต่ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิยังทำงานได้ตามปกติ อย่างเวลาเรากินทุเรียนเข้าไปมากๆ หรือออกกำลังกายหนักๆ ก็จะรู้สึกว่าตัวร้อนขึ้นได้ สักพักก็จะหาย
อุณหภูมิร่างกายปกติในแต่ละวัย
- ทารก 36.1-37.7 ⁰C
- เด็ก 37-37.6 ⁰C
- ผู้ใหญ่ 36.5-37.5 ⁰C
- ผู้สูงอายุ 36-36.9 ⁰C
อุณหภูมิเท่าไหร่ถึงมีไข้
ภาวะไข้เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นโดยทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ สิ่งที่เป็นสาเหตุของไข้ส่วนใหญ่มักได้แก่ การติดเชื้อ การบาดเจ็บของร่างกาย การใช้ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง
เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิประมาณ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการตัวร้อนที่สัมผัสได้ ซึม หน้าแดง ตัวแดง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่สำคัญวัดไข้ภายใน 48 ชั่วโมงก็ยังมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติ ก็จัดว่ามีอาการไข้แล้ว
ตำแหน่งวัดไข้ต่างกันก็แปลผลได้ต่างกัน
โดยปกติแล้วเด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีตำแหน่งวัดไข้ทีเหมาะสมแตกต่างกัน อีกทั้งตำแหน่งที่วัดก็ให้ความแม่นยำที่แตกต่างกันด้วย
– ทางทวาร เป็นตำแหน่งที่แม่นยำที่สุดในเด็กทุกช่วงอายุ เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่สามารถอมปรอทวัดไข้ได้
o ค่าปกติ 36.6-37.9๐C
o มีไข้ ≥ 38๐C
– ทางปาก เป็นตำแหน่งที่แม่นยำ เหมาะกับเด็กอายุมากกว่า 4-5ปี ที่สามารถอมปรอทวัดไข้ได้แล้ว
o ค่าปกติ 35.5-37.5๐C
o มีไข้ ≥ 37.6๐C
– ทางรักแร้ เป็นตำแหน่งที่แม่นยำน้อยกว่าทางปากหรือทวารหนัก เหมาะกับกรณีที่เด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 3เดือน หรือเด็กที่ไม่สามารถอมปรอทวัดไข้ใต้ลิ้นได้
o ค่าปกติ 34.7-37.3๐C
o มีไข้ ≥ 37.4๐C
– ทางหูหรือหน้าผาก เป็นตำแหน่งที่แม่นยำน้อยกว่าทางปากหรือทวารหนักเช่นกัน แต่เป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน เพราะใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว มักใช้ในกรณีที่ต้องการยืนยันผลจากวิธีอื่นๆ
o ค่าปกติ 35.7-37.7๐C
o มีไข้ ≥ 37.8๐C
ระดับความรุนแรงของไข้
- ไข้ต่ำ (Low Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 37.0 – 38.9⁰C
- ไข้ปานกลาง (Medium Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 38.9 – 39.5⁰C
- ไข้สูง (High Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 39.5 – 40.4⁰C
- ไข้สูงมาก (Hyperpyrexia) มีอุณหภูมิมากกว่า 41⁰C
อุณหภูมิร่างกายของเด็ก
อุณหภูมิของร่างกายปกติอยู่ที่ 36.0 – 37.5 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสำหรับเด็กที่มีไข้ต่ำ 37.6 – 38.4 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสำหรับเด็กที่มีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก