โรคดีซ่านในเด็กคืออะไร
โรคดีซ่านในเด็ก (Jaundice in Children) คือภาวะตัวเหลืองในเด็ก พบได้บ่อยในเด็กทารกเกิดใหม่ อาการจะเกิดขึ้นเมื่อทารกมีอายุเพียงไม่กี่วันหรือสัปดาห์ ดีซ่านในทารกส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากโรคและไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวล โรคนี้สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
โรคดีซ่านเกิดจากสารสีเหลือง(เม็ดสี)ที่เรียกว่า บิลิรูบิน ซึ่งสร้างขึ้นโดยตับ ม้ามและไขกระดูก จากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แตกตัว ตับส่งบิลิรูบินผ่านทางน้ำดีขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ
เด็กตัวเหลืองเกิดขึ้นจากการที่บิลิรูบินไม่สามารถถูกขับออกจากร่างกายได้เร็วพอและทำให้มีค่าบิลิรูบินในเลือดมากเกินไป การที่มีบิลิรูบินในเลือดมากเกินไปทำให้ผิวและตาขาวดูเป็นสีเหลือง
โรคดีซ่านในทารกมีสองประเภท
-
ภาวะผิดปกติจากสรีรภาวะ: เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นในประมาณ 6 ใน 10 ของทารกเกิดใหม่ ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อบิลิรูบินไม่สามารถถูกขับออกจากร่างกายได้เร็วพอ โดยปกติแล้วภาวะนี้จะหายได้เองเมื่อทารกอายุประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้ายังไม่หายอาจต้องได้รับการรักษา
-
ภาวะผิดปกติจากพยาธิภาวะ: ภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น ภาวะติดเชื้อ โรคต่อมไร้ท่อ หรือโรคติดต่อทางพันธุกรรม ทำให้ตับไม่สามารถขับบิลิรูบินได้ดีเท่าที่ควร ในกรณีนี้แพทย์จะต้องวินิจฉัยสาเหตุและรักษา
สาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเหลือง
ระหว่างการตั้งครรภ์ ตับของแม่ทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินให้ทารก แต่หลังคลอด ตับของทารกจะทำหน้าที่เอง โรคดีซ่านเกิดขึ้นเมื่อตับของทารกไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ด้วยตนเอง โรคดีซ่านจึงพบในทารกได้บ่อยเนื่องจากตับของทารกนั้นยังไม่โตเต็มที่ แต่ภาวะนี้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น หลังจากนั้น ตับของทารกจะสามารถจัดการกับบิลิรูบินและขับออกจากร่างกายได้ตามปกติ
ไม่บ่อยนักที่โรคดีซ่านจะเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่นๆ จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและการรักษาที่ถูกต้อง ปัญหาทางสุขภาพที่อาจทำให้เด็กแรกเกิดตัวเหลืองมีดังนี้:
-
กรุ๊ปเลือดของแม่และทารกไม่ตรงกัน จึงทำให้การแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ และทำให้ค่าบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น
-
โรคเลือด เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia) หรือ ภาวะขาด G6PD (glucose-6-phosphate dehydrogenase)
-
การติดเชื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคดีซ่านอาจเป็นสัญญาณของอาการติดเชื้อรุนแรง เช่น เริม หรืออาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อ
-
โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือ ภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย
-
โรคที่เกิดจากทางเดินท่อน้ำดีตีบหรืออุดตัน เช่น ภาวะท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด ภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) และ กลุ่มอาการอาลาจิล (Alagille syndrome)
-
โรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการกิลเบิร์ต หรือ ภาวะที่มีน้ำตาลกาแล็กโทสในเลือดสูงกว่าปกติ (โรคนี้ร้ายแรงสำหรับทารกและต้องรักษาโดยการปรับอาหารเฉพาะ) ยังมีโรคทางพันธุกรรมอีกหลายโรคที่สามารถทำให้เกิดโรคดีซ่านได้แต่โรคเหล่านั้นค่อนข้างพบได้ยาก
อาการเด็กตัวเหลือง
-
ผิวเหลืองและตาเหลือง: ใช้นิ้วกดลงเบาๆ บริเวณหน้าผากของทารก หากบริเวณที่ถูกกดลงนั้นดูเป็นสีเหลืองทารกอาจเป็นโรคดีซ่าน
-
ปัสสาวะสีเข้ม: ปัสสาวะสีปกติของทารกคือ สีเหลืองอ่อน หรือ ไม่มีสี
-
อุจจาระสีอ่อน: สีอุจจาระของทารกที่ดื่มนมจากขวดคือสีเหลืองเขียว หากทารกที่ดื่มนมแม่จะมีอุจจาระสีเหลือง โดยทั่วไปอุจจาระทารกจะมีสีส้ม สีเขียวหรือสีน้ำตาล อุจจาระของทารกไม่ควรเป็นสีเทา สีเนื้อ สีขาว หรือสีอ่อน
การรักษาโรคดีซ่านในเด็ก
อาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่ไม่ได้เกิดจากโรค ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายในสองสัปดาห์โดยไม่ต้องได้รับการรักษา ในระหว่างนี้อาจต้องมีการตรวจเลือดทารกเพื่อตรวจว่าค่าบิลิรูบินในเลือดดีขึ้นหรือไม่
ทารกบางรายอาจต้องรักษาโดยการส่องไฟรักษาไปที่ผิวของทารก (phototherapy) ไฟนี้ไม่มีอันตราย ไฟสีฟ้าก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำให้ร่างกายสามารถขับบิลิรูบินออกทางปัสสาวะและอุจจาระได้ง่ายขึ้น การรักษานี้ใช้อาจเวลาประมาณ 2-3ชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน ขึ้นอยู่กับระดับของบิลิรูบิน
การส่องไฟรักษามีสองแบบ ดังนี้
-
การส่องไฟรักษาแบบธรรมดา/ทั่วไป (Conventional phototherapy): ทารกจะนอนอยู่บนเตียงใต้ไฟบิลิ (ไฟสีฟ้า) มีการใช้ผ้าปิดตาเพื่อปกป้องตาของทารกระหว่างการรักษา
-
การส่องไฟรักษาแบบเส้นใยแก้วนำแสง (Fiberoptic phototherapy): การรักษาโดยใช้ผ้าห่มบิลิ โดยมีไฟสีฟ้าอยู่ในผ้าห่ม รักษาโดยการวางทารกไว้บนผ้าห่มหรือห่อทารกไว้ในผ้าห่ม
หากการส่องไฟไม่สามารถทำให้ระดับบิลิรูบินลดลงได้ หรือไม่เร็วพอ อาจต้องรักษาโดยการถ่ายเลือด แต่เกิดขึ้นน้อยมาก
ในทารกแรกเกิดตัวเหลืองที่เกิดจากความผิดปกติจากพยาธิภาวะ วิธีทางรักษาที่ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุทำให้เกิด เนื่องจากโรคต่างๆต้องใช้การวินิจฉัยและการรักษาที่ต่างกันไป
สรุป
-
โรคดีซ่านพบได้บ่อยในทารก
-
เป็นโรคที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่ร้ายแรง
-
โรคดีซ่านในเด็กมักไม่ร้ายแรง
-
หากโรคดีซ่านเกิดขึ้นเป็นเวลานานเกินสองสัปดาห์, มีความรุนแรง(ระดับบิลิรูบินสูงมาก) หรือเกิดจากโรคอื่น(พยาธิภาวะ) ควรมีการตรวจเพิ่มเติมและรักษาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
-
https://www.webmd.com/parenting/baby/digestive-diseases-jaundice
-
https://www.childrens.health.qld.gov.au/fact-sheet-jaundice-in-newborns/
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก