ลักษณะของตะลิงปลิง
ต้นตะลิงปลิง มีถิ่นกำเนิดในแถบชายฝั่งทะเลของบราซิล เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกทั่วไปเพราะลำต้นมีพวงแน่นที่สวยงาม และยังเป็นพืชร่วมวงศ์กับมะเฟือง แต่จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนตรงขนาดของผล โดยผลมะเฟืองจะมีขนาดใหญ่กว่าผลตะลิงปลิง ต้นตะลิงปลิงนั้นจัดเป็นพืชในเขตร้อน และเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นสีชมพู ผิวเรียบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ตามกิ่ง ลักษณะของใบตะลิงปลิงเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบสีเขียวอ่อนมีขุยนุ่มปกคลุม ใบคล้ายรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ในหนึ่งก้านจะมีใบย่อยประมาณ 11-37 ใบ ขนาดใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร ส่วนลักษณะของดอกตะลิงปลิง จะออกดอกเป็นช่อหลายช่อ ตามกิ่ง และลำต้น โดยในแต่ละช่อจะมีความยาวไม่เกิน 6 นิ้ว ลักษณะดอกมีกลีบ 5 กลีบ ดอกสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียวอมชมพู มีเกสรกลางดอกสีขาว
ประโยชน์ และสรรพคุณตะลิงปลิง
ตะลิงปลิงถูกนำมาใช้เป็นอาหารมาตั้งแต่อดีตแล้ว และในปัจจุบันก็ยังนิยมนำมาทำเป็นอาหารต่างๆ เช่น ยอดอ่อน และก้านดอกใช้ต้มจิ้มน้ำพริก ส่วนผลอ่อน ตะลิงปลิงมีรสเปรี้ยวจัด นิยมใช้แกงส้ม แกงคั่ว ทำน้ำพริก ต้มหมู ต้มเนื้อ ยำต่างๆ นำมาดอง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ กินกับขนมจีน ใส่ในน้ำบูดู หรือใช้แทนมะนาวในเมี่ยงคำ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผลตะลิงปลิงมาแปรรูปเป็นน้ำตะลิงปลิง ตะลิงปลิงดอง ตะลิงปลิงแช่อิ่ม หรือไวน์ตะลิงปลิง เป็นต้น
ส่วนดอกตะลิงปลิงสามารถนำมาบดผสมน้ำ และคั้นเอาน้ำสำหรับใส่ทำขนม ซึ่งจะให้สีแดงม่วง หรือสีม่วง นอกจากนั้น ยังสามารถนำไปย้อมกระดาษเพื่อทำกระดาษสีได้ด้วย และน้ำคั้นจากผลตะลิงปลิงยังนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิว แชมพู และสบู่ได้อีกด้วย
ฤทธิ์ลดน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ งานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์ทำการทดสอบคุณสมบัติ ในการลดน้ำตาล และลดไขมันของสารสกัดเอทานอลของ ใบตะลิงปลิงในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ขั้นแรกพบว่าเมื่อได้รับสารสกัดเอทานอล 125 มก./กก. วันละ 2 เวลา 14 วัน เปรียบเทียบกับยาเมตฟอร์มิน (Metformin) 500 มก./กก. เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า
หนูที่ได้สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงมีน้ำตาลในเลือดลดลงครึ่งหนึ่ง มีไตรกลีเซอไรด์ลดลงร้อยละ 130 มีปริมาณไขมันที่ดี (เอชดีแอลคอเลสเตอรอล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และลดระดับไลพิดเพอร์ออกซิเดชั่นของไต ผลดังกล่าวมีทิศทางเดียวกันกับหนูที่ได้รับเมตฟอร์มิน เห็นชัดว่าสารสกัดดังกล่าวมีผล ลด Anti-Atherogenic Index และสัดส่วนเอชดีแอลคอเลสเตอรอลทั้งหมดในสัตว์ทดลอง
และเมื่อนำสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงข้างต้น ไปแยกต่อเป็นสารสกัดน้ำ บิวทานอล และเอทิลอะซีเทต โดยทดสอบเป็นเวลานานในหนูเบาหวานที่เหนี่ยวนำด้วยสเตร็ปโทโซโทซิน ที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำ และบิวทานอล (125 มก./กก. วันละ 2 ครั้งนาน 14 วัน) จากใบตะลิงปลิงมีปริมาณกลูโคส และไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำกว่าในหนูกลุ่มควบคุม หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำมีไกลโคเจนในตับสูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม
โดยหนูที่ได้รับสารสกัดน้ำ และบิวทานอลไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระดับของคอเลสเตอรอล และเอชดีแอลคอเลสเตอรอลแต่อย่างใด เมื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Glucose) ในหนูทดลองพบว่า ในวันที่ 7 และ 14 หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำ และบิวทานอล มีค่าน้ำตาลในเลือดลดลง โดยหนูทั้ง 2 กลุ่มมีปริมาณอินซูลินสูงขึ้นในวันที่ 14 อย่างมีนัยสำคัญ สรุปว่าสารสกัดน้ำของสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงมีผลในการลดปริมาณน้ำตาล และไขมันในเลือดสัตว์ทดลองได้ดี
ฤทธิ์แก้คัน สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงลดอาการผื่นแดงของผิวหนังในสัตว์ทดลอง โดยมีการศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้สารสกัดเอทานอล 10% ของใบตะลิงปลิงผสมในสูตรขี้ผึ้ง การทดสอบภาวะแพ้ที่ผิวหนัง ในหนู ที่มีผื่นแดงเทียบกับยาทาแก้แพ้ พบว่าขี้ผึ้งตะลิงปลิงลดอาการบวมแดงได้ใน 7ชั่วโมง กลุ่มทายาอาการหายไปใน 14 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรอาการผื่นแดงหายไปใน 23 ชั่วโมง
ฤทธิ์คุมกำเนิด มีผลการศึกษาวิจัยที่ฟิลิปปินส์ ระบุว่าเมื่อให้น้ำคั้นจากผล 200 กรัม (ได้ 15 มิลลิลิตร) กับหนูอายุ 8 เดือนทุกวัน 10 วันก่อนผสมพันธุ์ 10 วันระหว่างผสมพันธุ์และหลังผสมพันธุ์ พบว่าร้อยละ 60 ของหนูที่ได้รับสารจากผลตะลิงปลิงไม่ติดลูก ทั้งนี้พบสเตอรอยด์ไกลโคไซด์ และกรดออกซาลิกในน้ำคั้นที่ใช้ จึงเชื่อว่าสารทั้งสองมีส่วนในการออกฤทธิ์คุมกำเนิดดังกล่าว
ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษากับหนูทดลองเช่นกัน โดยให้หนูทดลองบริโภคผลตะลิงปลิงปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 60 วัน พบว่าสารเควอซิทิน ซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มฟีนอลที่พบได้ในตะลิงปลิง อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงการเกิดเบาหวานในหนูทดลองได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีผลรายงานการศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า สารสกัดจากใบตะลิงปลิงปริมาณ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) ที่อาจก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) ที่อาจก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่าได้
และยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในห้องทดลองอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ผลตะลิงปลิง และน้ำปั่นตะลิงปลิง ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม (Salmonella Typhimurium) ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย และโรคไข้ไทฟอยด์ และต้านเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารและก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
การขยายพันธุ์ตะลิงปลิง
ตะลิงปลิงสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ดการเสียบยอด และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันคือ การเพาะเมล็ด เพราะจะได้ต้นสูงปกติ และแตกกิ่งมาก ส่วนการปลูกด้วยวิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง และการเสียบยอด จะได้ต้นค่อนข้างเตี้ย แต่แตกกิ่งน้อย ผลผลิตอาจน้อยกว่าการปลูกด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกด้วยการเพาะเมล็ดนั้นมีวิธีการ คือ การนำเมล็ดตะลิงปลิงจากผลที่สุกมาตากให้แห้งแล้วนำมาเพาะใส่ถุงเพาะชำรดน้ำให้ชุ่มแล้วนำไปวางไว้ที่ร่มๆ รดน้ำเช้า – เย็น ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ต้นจะพร้อมที่จะนำไปปลูก แล้วนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้โดยเว้นระยะห่างประมาณ 4×6 เมตร ทั้งนี้ ตะลิงปลิงเป็นพืชปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนปนทราย ที่ระบายน้ำดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขังเป็นเวลานานชอบแสงแดด โดยจะใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะมีดอกมีผล และหลังจากปลูกได้นาน 3-4 เดือนควรหมั่นตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่ม ถ้าไม่ต้องการให้ต้นสูงมากก็ตัดส่วนยอดออกเพื่อให้แตกกิ่งข้าง ๆ จะช่วยให้เก็บผลได้ง่าย
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาวิจัยพบว่าในผลตะลิงปลิงประกอบด้วยสาร Flavonoid , Quercetin , Alkaloid สารประกอบกลุ่ม Phenolic Compound และ ยังพบ Citric Acid อีกด้วย นอกจากนี้ส่วนต่างๆของตะลิงปลิงยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของผลตะลิงปลิง (100 กรัม)
– โปรตีน 0.61 กรัม
– แคโรทีน 0.035 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 10.010 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 15.5 มิลลิกรัม
– ธาตุแคลเซียม 3.4 มิลลิกรัม
– ธาตุเหล็ก 1.01 มิลลิกรัม
– ธาตุฟอสฟอรัส 11.1 มิลลิกรัม
วิธีใช้
ใช้เป็นยาฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร ลดไข้ แก้ไขข้ออักเสบ และโรคเก๊าต์ ช่วยรักษาโรคซิฟิลิส แก้กระหายน้ำ โดยนำรากแห้งของตะลิงปลิงมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม เช้า – เย็น ใช้แก้ไอโดยการนำดอกแห้งของตะลิงปลิงมาต้ม หรือชงแบบชารับประทาน ผลใช้รับประทาน บำรุงร่างกระเพาะอาหาร แก้เสมหะเหนี่ยวข้น ช่วยฟอกโลหิต แก้ไอ แก้ลักปิดลักเปิด รักษาอาการคัน และคางทูมโดย ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อย พอกบริเวณที่เป็น พอกวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปลี่ยนยาใหม่ทุกครั้ง ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ด้วยการรับประทานผล 5-10 ผล และดื่มน้ำตามมากๆ ช่วยรักษาสิว รอยฟ้า กะ และรอยผิวด่างดำ โดยการนำผลมา 2-3 ผล มาฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนใช้วางประคบบนใบหน้า
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก