วิธีการคุมกำเนิดมีหลายวิธีในการช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยวิธีที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ถุงยางอนามัย และยาคุมกำเนิด การตัดสินใจเลือกวิธีที่ถูกต้องอาจเป็นเรื่องยาก เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา รวมถึงค่าใช้จ่าย แผนการตั้งครรภ์ในอนาคต ผลข้างเคียง และอื่นๆ
ดังนั้นคุณสามารถที่จะพิจารณาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับคุณที่สุดได้
การเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม
การตัดสินใจว่าวิธีการคุมกำเนิดแบบใดดีที่สุด เหมาะสมที่สุดนั้นอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีตัวเลือกมากมายให้เลือก วิธีที่ดีที่สุดคือ วิธีที่สามารถใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ ต้องเป็นวิธีที่คุณ และคนรักยอมรับที่จะใช้ร่วมกัน โดยวิธีมีดังต่อไปนี้
1. การคุมกำเนิดแบบใช้ห่วงอนามัย (IUD)
ห่วงอนามัยเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ต้องติดตั้งภายในมดลูกของผู้หญิง โดยห่วงอนามัยที่นิยมมีดังนี้
- ห่วงอนามัยที่เคลือบด้วยทองแดง (Copper-containing IUD) – IUD ที่เคลือบด้วยทองแดง และมีผลเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี แต่สามารถนำออกได้ทุกเมื่อ ห่วงอนามัยนี้ไม่มีฮอร์โมนใด ๆ ผู้หญิงบางคนมีประจำเดือนหนักกว่า หรือเกร็งท้องมากกว่าในช่วงเวลาที่มีประจำเดือนขณะใช้ IUD เคลือบทองแดง
- ห่วงอนามัยที่ปลดปล่อยฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel-releasing IUD) – ห่วงอนามัยชนิดนี้จะปล่อยฮอร์โมน Levonorgestrel ซึ่งทำให้มูกปากมดลูกหนาขึ้น และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณเลือดออก และความเจ็บปวดในตอนที่เป็นประจำเดือน
2. ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (BIRTH CONTROL IMPLANT)
Nexplanon เป็นชื่อทางการค้าของยาคุมกำเนิดแบบฝัง แม้ว่าจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากฮอร์โมนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างช้าๆ แต่ก็สามารถนำออกได้ทุกเมื่อ โดยมีผลภายใน 24 ชั่วโมงหลังใส่ แต่ภาวะเลือดออกผิดปกติเป็นผลข้างเคียงที่น่ารำคาญที่สุด ในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างรวดเร็วหลังจากถอดยาคุมกำเนิดแบบฝังออกแล้ว
3. ยาคุมกำเนิดแบบฉีด (INJECTABLE BIRTH CONTROL)
การฉีดยาคุมกำเนิดเป็นวิธีที่นิยมวิธีหนึ่ง โดยยา Medroxyprogesterone acetate หรือ DMPA (Depo-Provera) ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสตินที่คงอยู่ยาวนาน การฉีดจะฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อลึกๆ เช่น ก้น หรือต้นแขน ทุกๆ 3 เดือน โดยประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดชนิดนี้ถือว่าสูง
ผลข้างเคียง — ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดของ DMPA คือ เลือดออกทางช่องคลอด และเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-6 เดือนแรก ผู้หญิงถึง 50% จะไม่มีมีประจำเดือนโดยสิ้นเชิงหลังจากใช้ DMPA เป็นเวลา 1 ปี แม้ว่าการตกไข่ และรอบเดือนโดยทั่วไปจะกลับมาภายใน 6 เดือน หลังจากฉีดไป และใช้เวลาอีก 1 ปี 6 เดือน โดยประมาณในการตกไข่ และกลับมามีประจำเดือนปกติ โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่มีแผนที่จะมีบุตรภายในปีนั้น
4. การกินยาคุมกำเนิดแบบชนิดเม็ด (BIRTH CONTROL PILLS)
ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด ประกอบด้วยฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิด โดยเมื่อรับประทานอย่างเหมาะสม ยาคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพ วิธีการกินยาคุมกำเนิดโดยทั่วไปแล้ว หากพลาดไป 1 เม็ด ควรรับประทานโดยเร็วที่สุด หากคุณพลาดยาตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป ให้กินต่อไปวันละ 1 เม็ดและใช้วิธีการสำรองในการคุมกำเนิด (เช่น ถุงยางอนามัย) เป็นเวลา 7 วัน หากคุณพลาดยาตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป ควรรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ผลข้างเคียงยาคุมกำเนิดแบบเม็ด มีดังนี้
- คลื่นไส้ เจ็บเต้านม ท้องอืด และอารมณ์แปรปรวน ซึ่งจะดีขึ้นภายใน 2-3 เดือน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก การลืมรับประทานยาอาจทำให้เลือดออกผิดปกติได้เช่นกัน
5. แผ่นแปะคุมกำเนิด (SKIN PATCHES)
แผ่นแปะผิวหนังสำหรับคุมกำเนิดประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน และโปรเจสติน คล้ายกับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด โดยแผ่นแปะมีประสิทธิภาพเท่ากับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด และเป็นทางเลือกของผู้หญิงในการที่จะไม่ต้องรับประทานยาคุมกำเนิดในทุกวัน
6. วงแหวนคุมกำเนิด (VAGINAL RING)
วงแหวนคุมกำเนิดมีลักษณะเป็นห่วงที่ยืดหยุ่น ประกอบด้วยเอสโตรเจน และโปรเจสติน โดยสอดใส่ในช่องคลอด และฮอร์โมนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างช้าๆ โดยใส่ตลอด 3 สัปดาห์ ตามด้วยไม่ใส่ 1 สัปดาห์ ประจำเดือนจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ด้วย โดยการคุมกำเนิดแบบวงแหวนคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดแบบเม็ด
7. การใช้ถุงยางอนามัย (BARRIER METHODS)
เป็นการคุมกำเนิดโดยป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าสู่มดลูก สิ่งกีดขวางคุมกำเนิด ได้แก่ ถุงยางอนามัย ไดอะแฟรม และฝาครอบปากมดลูก เป็นต้น
ถุงยางอนามัยผู้ชาย — ถุงยางอนามัยชายเป็นปลอกบาง และยืดหยุ่นได้ใส่ปกคลุมองคชาต เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ผู้ชายที่ใช้ถุงยางอนามัยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้งานอย่างระมัดระวัง ถุงยางอนามัยมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้กับสารกำจัดอสุจิ อีกทั้งการใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ถุงยางอนามัยผู้หญิง — มีลักษณะเป็นปลอกทำจากโพลียูรีเทน และสารหล่อลื่น โดยจะมีส่วนที่เป็นวงแหวนวางอยู่ด้านนอกช่องคลอด สามารถป้องกันอสุจิเข้าสู่มดลูกได้เช่นกัน
8. การคุมกำเนิดแบบถาวร (PERMANENT BIRTH CONTROL)
เป็นการคุมกำเนิดที่ป้องกันตั้งครรภ์อย่างถาวร โดยการการทำหมันท่อนำไข่ (สำหรับผู้หญิง) และการทำหมัน (สำหรับผู้ชาย) เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรที่พบบ่อยที่สุด และควรพิจารณากับคู่สมรสว่าคุณต้องการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างถาวร จากนั้นจึงเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ต่อไป
9. การกินยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน (EMERGENCY CONTRACEPTION)
การคุมกำเนิดฉุกเฉิน หมายถึง การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉินหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ประเภทของการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้แก่ อุปกรณ์ IUD หรือวิธีการกินยาคุมกำเนิดเม็ดฉุกเฉิน สามารถใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินได้หากลืมกินยาคุมกำเนิด หรือหากถุงยางแตก และการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน โดยไม่ได้ยินยอม
บทสรุป
จากบทความจะเห็นได้ว่าวิธีการคุมกำเนิดนั้นมีมากหมายหลากหลาย แต่วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมที่สุด คือ วิธีที่คุณพิจารณด้วยตนเองแล้วว่า มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นวิธีที่คุณสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก