ไซโปรฟลอกซาซินชนิดเม็ด (Ciprofloxacin Tablet)

ไซโปรฟลอกซาซินชนิดเม็ด (Ciprofloxacin Tablet)

05.07
14608
0

ชื่อทางการค้า: CIPRO 

ชื่อสามัญ: CIPROFLOXACIN

วิธีใช้

ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่หลากหลาย โดยเป็นยาปฏิชีวนะที่ถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่ม quinolone ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น ฉะนั้นใช้ยาดังกล่าวเมื่อจำเป็น มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดการดื้อยาในอนาคตได้ 

  • อ่านฉลากยาให้ดีก่อนใช้ยา หรือหากไม่แน่ใจสามารถสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการเริ่มรับประทานได้
  • สามารถทานยาขณะท้องว่าง หรือทานพร้อมอาหารได้ โดยปกติมักรับประทาน 2 ครั้งต่อวัน ห่างกัน 12 ชม.
  • ยาชนิดน้ำอาจต้องเขย่ายาให้เข้ากัน ประมาณ 15 วินาที ก่อนรับประทานและควรใช้ช้อนยาในการตวงยา
  • ไม่ควรเคี้ยว หรือบดยา
  • ไม่ควรให้ยาทางสายให้อาหาร เนื่องจากตัวยาอาจทำให้สายอุดตันได้
  • ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับภาวะของโรคและการตอบสนองต่อการรักษา 
  • ดื่มน้ำตามให้มากๆ ยกเว้นแพทย์สั่ง
  • รับประทานยาไซโปรฟลอกซาซินห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชม.เพื่อประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ เช่น Quinapril, Sevelamer, Sucralfate, วิตามินและเกลือแร่(โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากธาตุเหล็กและสังกะสี)และผลิตภัณที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม, อะลูมิเนียมหรือแคลเซียม (เช่น ยาลดกรด, สารละลายไดดาโนซีน, แคลเซียมเสริม)
  • อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม หรือนมผลไม้ที่มีแคลเซียมสูง โดยสิ่งเหล่านี้จะไปลดการออกฤทธิ์ของยาไซโปรฟลอกซาซิน  ดังนั้นควรรับประทานยาไซโปรฟลอกซาซินห่างจากยาเหล่านี้อย่างน้อย 2 ชม.
  • เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ควรรับประทานยาปฏิชีวนะในเวลาเดียวกันของทุกๆวัน เพื่อไม่เกิดการลืมยา และรับประทานตามที่แพทย์สั่งจนหมด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ห้ามหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้

ผลข้างเคียง 

  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • เวียนศีรษะ
  • มึนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • นอนหลับยาก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยาที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

ในการจ่ายยาแพทย์ได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นหากแพทย์สั่งยาให้คุณแสดงว่าต้องมีข้อดีมากกว่าผลข้างเคียงอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ใช้ยาส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียงจากยาไซโปรฟลอกซาซินที่รุนแรง

รีบแจ้งแพทย์หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่

  • เกิดรอยฟกช้ำ หรือเลือดออกผิดปกติ
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อใหม่ เช่น เป็นไข้บ่อยครั้ง  เจ็บคอบ่อยครั้ง
  • สัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนไป  ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำล้างเนื้อ
  • สัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น อาการเหนื่อยง่าย ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนบ่อยครั้ง  ตัวตาเหลือง  ปัสสาวะสีเข้ม
  • รีบไปพบแพทย์หากเกิดภาวะดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงอาการเวียนศีรษะรุนแรง, อ่อนเพลีย  หัวใจเต้นเร็ว  อาการเจ็บที่กลางหน้าออกทะลุไปที่หลัง ซึ่งเป็นสัญญาณของการบากเจ็บหรือเกิดการแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ Aorta
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินอาจเกิดปัญหาต่อลำไส้เล็กที่รุนแรง ซึ่งพบได้น้อยที่เรียกว่า Clostridium difficile-associated diarrhea โดยภาวะดังกล่าวอาจเกิดระหว่างหรือหลังจากที่หยุดยาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการได้แก่ ท้องเสียบ่อยครั้ง  ปวดท้อง  ถ่ายเป็นมูกเลือด ไม่ควรใช้ยาแก้ท้องเสีย หรือยาแก้ปวดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากตัวยาอาจทำให้อาการแย่ลง
  • หากใช้ยานานเกินไปอาจนำไปสู่การเกิดแผลในช่องปาก หรือการติดเชื้อรา ควรไปพบแพทย์หากสังเกตพบแผ่นฝ้าขาวในช่องปาก, เกิดการตกขาวผิดปกติ หรือเกิดอาการใหม่ๆขึ้นมา
  • การแพ้รุนแรงต่อยาไซโปรฟลอกซาซิน พบได้น้อยมาก แต่กระนั้นก็ควรสังเกตอาการของคุณเอง โดยการแพ้ยาอย่างรุนแรง ได้แก่ มีผื่น, เกิดอาการคัน/บวม (โดยเฉพาะใบหน้า, ลิ้น, ภายในลำคอ), เวียนศีรษะรุนแรง, หายใจลำบาก 

ทั้งหมดยังไม่ใช่ผลข้างเคียงทั้งหมดของยา หากคุณมีอาการที่ไม่ได้อยู่ตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

Ciprofloxacin Tablet

ข้อควรระวัง 

  • หากคุณมีประวัติแพ้ยาไซโปรฟลอกซาซิน หรือยาปฏิชีวนะในกลุ่ม quinolone ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้ง ยาในกลุ่ม Quinolone ได้แก่ Norfloxacin, Gemifloxacin, Levofloxacin, Moxifloxacin หรือ Ofloxacin
  • หากคุณมีประวัติทางการแพทย์ที่กำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวาน, มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจวาย, ปัญหาเส้นเอ็นและข้อ เช่น เอ็นอักเสบ, bursitis, โรคไต, โรคตับ, ความผิดปกติทางอารมณ์ เช่นโรคซึมเศร้า, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis), ปัญหาทางระบบประสาท เช่น ระบบประสาทส่วนปลาย, ภาวะชัก, สภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการชัก (เช่น การบาดเจ็บทางสมอง, เนื้องอกในสมอง, เส้นเลือดในสมองขาดความยืดหยุ่น:cerebral atherosclerosis), ปัญหาหลอดเลือด(เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หรืออุดตัน), ปัญหาความดันโลหิตสูง, โรคทางพันธุกรรม(เช่น Marfan syndrome, Ehlers-Danlos syndrome)
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ (QT prolongation) ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงแต่พบได้น้อย โดยความเร็วและจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติไป ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ, เป็นลมได้ ควรแจ้งแพทย์ทราบโดยเร็วเพราะเป็นภาวะคุมคามชีวิต
  • ระดับโพแทสเซียมหรือแมกนีเซียมในเลือดสูง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด QT prolongation หรือการรับประทานยาขับปัสสาวะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ฉะนั้นหากกำลังใช้ยาไซโปรฟลอกซาซินอาจต้องหมั่นตรวจค่าน้ำตาลในเลือดและรายงานให้แพทย์ทราบ รวมไปถึงเฝ้าระวังอาการกระหายน้ำ หรือปัสสาวะบ่อย ซึ่งเป็นอาการเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง 
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินเพิ่มประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อทานคู่กับ Glyburide โดยอาการของน้ำตาลในเลือดต่ำได้แก่ เหงื่อออกกระทันหัน, มือสั่น, หัวใจเต้นเร็ว, หิวข้าว, ตาพร่ามัว, เวียนศีรษะ หรือหมดสติ การแก้ไขคือการให้ทานน้ำตาลโดยเร็ว เช่น น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง, ลูกอม หรือน้ำผลไม้ปราศจากโซดา และรีบแจ้งแพทย์ถึงอาการที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่ต้องใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดไม่ควรอดอาหาร หรือแพทย์อาจสลับเวลาในการให้ยาเพื่อป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ การดื่มแอลกอฮอร์หรือกัญชายิ่งทำให้เวียนศีรษะมากขึ้น ฉะนั้นไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือกิจกรรมที่ต้องให้สมาธิจดจ่อ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิดเมื่อออกกลางแดด หรือทาครีมกันแดดเมื่อออกนอกบ้าน
  • การใช้ยาไซโปรฟลอกซาซินร่วมกับการรับวัคซีนเชื้อเป็น เช่น วัคซีนไทฟอยด์ ตัวยาอาจทำให้วัคซีนออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ฉะนั้นหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนหรือการรับภูมิคุ้มกันขณะใช้ยาไซโปรฟลอกซาซิน
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าคุณกำลังรักษาด้วยยาไซโปรฟลอกซาซิน รวมไปถึงยาอื่นๆที่กำลังรับประทาน
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินประกอบไปด้วยน้ำตาลซูโครส ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีภาวะเมตาบอริซึม เช่น ผู้ที่แพ้ฟรุกโตส, Sucrase-isomaltase deficiency, Glucose-galactose malabsorption
  • ในเด็กอาจไวต่อการเกิดผลข้างเคียงของยาไซโปรฟลอกซาซิน โดยเฉพาะปัญหาเส้นเอ็นและข้อต่อ
  • ในผู้สูงอายุยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเส้นเอ็นและข้อต่อ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาคอติโคสเตียรอยด์ เช่น Prednisone หรือ Hydrocortisone เสี่ยงต่อQT prolongation, เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือแตกกระทันหัน
  • ในหญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์
  • ยาไซโปรฟลอกซาซินสามารถผ่านน้ำนมได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

ปฏิกิริยาต่อกันของยา 

การใช้ยาไซโปรฟลอกซาซินรวมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Acenocoumarol, Warfarin และ Strontium 

มียาหลายตัวที่เมื่อใช้ร่วมกับยาไซโปรฟลอกซาซินแล้วยิ่งทำให้เกิด QT prolongation ได้แก่ Amiodarone, Dofetilide, Quinidine, Procainamide, Sotalol เป็นต้น

ยาไซโปรฟลอกซาซินเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นอาจทำให้ค่าครึ่งชีวิตของยาอื่นยาวนานขึ้น ได้แก่ Duloxetine, Flibanserin, Lomitapide, Pirfenidone, Tasimelteon, Tizanidine เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน, ช๊อกโกแลต หรือตัวยาอื่นๆที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เนื่องจากอาจเสริมฤทธิ์ของคาเฟอีนยิ่งขึ้น

การใช้ยาเกินขนาด 

หากคุณใช้ยาเกินขนาดจนเกิดอาการที่รุนแรง เช่น หายใจลำบาก ให้รีบโทร 1669 หรือศูนย์พิษวิทยาในพื้นที่เพื่อขอความช่วยเหลือ

หมายเหตุ

  • ไม่ควรแบ่งยาให้แก่ผู้อื่น
  • ขนาดยาที่แพทย์ส่ง ใช้รักษาอาการของคุณขณะนั้นโดยเฉพาะ จึงไม่ควรใช้ยาตามเดิมเมื่อเกิดการติดเชื้อในอนาคต ควรปรึกษาแพทย์ใหม่ทุกครั้ง
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหน้าที่ของไต, การตรวจนับเม็ดเลือด ควรได้รับการตรวจและติดตามโดยแพทย์ขณะทำการรักษา
  • ไม่ควรเปลี่ยนยี่ห้อของยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากยาแต่ละยี่ห้อมีผลข้างเคียงที่ไม่เหมือนกัน

การลืมยา

หากคุณลืมทานยา ให้ทานเมื่อนึกขึ้นได้ หากใกล้เวลายามื้อถัดไป(ใกล้น้อยกว่า 6 ชม.) ให้ข้ามไปทานยามื้อถัดไปตามเวลาได้เลยโดยไม่ต้องทานยาเพิ่มเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • หากยาอยู่ในรูปผงก่อนผสมสารละลาย สามารถเก็บไว้ในที่อุณหภูมิห้องได้ แต่เมื่อผสมไปแล้วให้เก็บไว้ในตู้เย็นหรือที่อุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 14 วันหลังจากที่ผสม ห้ามแช่แข็ง
  • เก็บยาให้ไกลมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรใช้ยาอีกหากรับประทานยาครบตามแผนการรักษาแล้ว
  • ไม่ควรทิ้งยาในสุขภัณฑ์หรือท่อระบายน้ำ สามารถสอบถามเภสัชกรถึงวิธีการกำจัดยาอย่างถูกวิธี รวมไปถึงควรปฏิเสธยาที่มีบรรจุภัณฑ์ชำรุดหรือยาหมดอายุ
Комментарии (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *