โรคไข้สมองอักเสบคืออะไร
โรคไข้สมองอักเสบ(Encephalitis) คือ การอักเสบเฉียบพลัน (บวม) ของสมองที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเองที่โจมตีเนื้อเยื่อสมองโดยไม่ได้ตั้งใจ สมองจะอักเสบเป็นผลมาจากร่างกายพยายามต่อสู้กับไวรัส
โรคไข้สมองอักเสบเกิดขึ้น 1 ในทุกๆ 1,000 รายของคนที่เป็นโรคหัด โรคไข้สมองอักเสบโดยทั่วไปจะมีเริ่มมีอาการไข้ และปวดศีรษะ แล้วอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะมีอาการชัก สับสน ง่วงนอน หมดสติ จนถึงขั้นโคม่า
โรคไข้สมองอักเสบนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่พบโดยไม่มาก ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องของอายุ และความรุนแรงของอาการ
ผู้ป่วยที่อายุน้อยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ป่วยสูงอายุมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน และอันตรายถึงแก่ชีวิตได้สูงกว่า
เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสที่สมอง หรือไขสันหลังโดยตรงเรียกว่าโรคไข้สมองอักเสบปฐมภูมิ ในขณะที่โรคไข้สมองอักเสบทุติยภูมิหมายถึงการติดเชื้อที่เริ่มจากที่อื่นในร่างกายแล้วแพร่กระจายไปยังสมอง
ประเภทของไข้สมองอักเสบ
โรคไข้สมองอักเสบแยกเป็นประเภทต่างๆ ตามสาเหตุ สามารถแยกได้ดังนี้
- โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส Japanese encephalitis (JE) ซึ่งทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราป่วยตาย อยู่ระหว่างร้อยละ 20 – 30 ประมาณสองในสามของผู้รอดชีวิต จะมีความพิการเหลืออยู่ โรคนี้นำโดยยุง คิวเล็กซ์
- โรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากเห็บแพร่กระจายโดยเห็บ
- โรคพิษสุนัขบ้าสามารถแพร่กระจายผ่านการกัดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อาการไข้สมองอักเสบ
ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ และกลัวแสง (มีความไวต่อแสงมากเกินไป) นอกจากนี้อาจมีอาการอ่อนแรง หรือชักร่วมด้วย ส่วนใหญ่ของผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ มีเพียง 1 ใน 300 – 500 คนเท่านั้นที่จะมีอาการสมองอักเสบ ซึ่งจะเริ่มด้วยมีไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ต่อไปอาการปวดศีรษะจะมากขึ้น มีอาการอาเจียน ง่วงซึมจนไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการเกร็งชักกระตุกด้วย อาจมีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ ในรายที่เป็นรุนแรงมากจะถึงแก่ชีวิตประมาณวันที่ 7 – 9 ของโรค ถ้าพ้นระยะนี้แล้วจะผ่านเข้าระยะฟื้นตัว ระยะเวลาของโรคทั้งหมดประมาณ 4 – 7 สัปดาห์ เมื่อหายแล้วประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีความพิการเหลืออยู่ เช่น อัมพาตแบบแข็งเกร็ง (spastic) ของแขนขา มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีสติปัญญาเสื่อม จึงนับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขโรคหนึ่ง
การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ
การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ เป็นการรักษาเพื่อการบรรเทาอาการด้วยการให้สารต้านไวรัสเฉพาะที่ อย่างเช่น อะไซโคลเวียร์ แต่ก็ไม่ได้มีความสำเร็จ 100%
แพทย์อาจจะให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบของสมองโดยเฉพาะในกรณีของโรคไข้สมองอักเสบหลังติดเชื้อ (ทุติยภูมิ) หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยหายใจและการรักษาแบบประคับประคองอื่น ๆ
และจะมีการให้ยากันชักสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการชัก ยาระงับประสาทสำหรับผู้ที่มีอาการกระสับกระส่าย และหงุดหงิด สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมากการรับประทานยาลดไข้ และพักผ่อนมากๆ จะช่วยให้ดีขึ้นได้
การวินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบ
การวินิจฉัยไข้สมองอักเสบจะซักประวัติของผู้ป่วยร่วมกับตรวจร่างกายทางระบบประสาทและสมองอย่างละเอียด แล้วจึงส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของสมอง ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ การตรวจซีทีสแกนและการทำเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีลักษณะสมองอักเสบหรือมีลักษณะโรคทางสมองอื่น ๆ ร่วมกับการเจาะน้ำไขสันหลัง ตรวจหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องนำไปสู่การรักษาที่เฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป
การสแกน CT scan นั้นมีประโยชน์ในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง รวมทั้งสามารถแยกแยะสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือเนื้องอก อย่างไรก็ตาม MRI เป็นตัวเลือกการถ่ายภาพที่ดีที่สุดสำหรับการวินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบ
EEG (Electro Encephalo Graph) ตรวจสอบกิจกรรมคลื่นไฟฟ้าในสมองอาจแสดงคลื่นที่คมชัดในกลีบขมับข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างในผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ
และแพทย์อาจสั่งให้ตรวจเลือดหากคาดว่าการติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์เป็นสาเหตุ
ภาวะแทรกซ้อนของไข้สมองอักเสบ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไข้สมองอักเสบมักมีภาวะแทรกซ้อนอย่างน้อยหนึ่งอย่างโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีอาการโคม่า และผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาในระยะเริ่มแรก
ภาวะแทรกซ้อนได้แก่
- การสูญเสียความทรงจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสเริม
- การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพ เช่นอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด และวิตกกังวล
- โรคลมบ้าหมู
- ความพิการทางสมอง ปัญหาด้านภาษาและการพูด
การป้องกันไข้สมองอักเสบ
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้สมองอักเสบ ซึ่งรวมถึงวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
หากอยู่ในชุมชนที่มียุงที่เป็นพาหะของไวรัสไข้สมองอักเสบประชาชนควรลดความเสี่ยงจากการถูกกัด เช่น การสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม การหลีกเลี่ยงบริเวณที่มียุงรบกวน การหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในช่วงเวลาระหว่างวันที่มียุงเป็นจำนวนมาก การดูแลบ้านให้ปลอดจากยุง และอื่นๆ ที่ทำให้ห่างไกลจากการถูกยุงกัด
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/encephalitis/symptoms-causes/syc-20356136
- https://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-encephalitis-basics
- https://www.healthline.com/health/encephalitis
- https://www.nhs.uk/conditions/encephalitis/
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก