ลิ้นอักเสบ (Glossitis) คือภาวะที่ลิ้นมีอาการอักเสบ ทำให้ลิ้นเปลี่ยนสีและผิวลิ้นมีลักษณะเปลี่ยนไป
ร่วมกับอาการบวม ลิ้นอักเสบทำให้ลิ้นมีสีและลักษณะผิวลิ้นที่เปลี่ยนไปจากเดิมเพราะมีปุ่มก้อนเล็กๆบนผิวลิ้นจะหดตัวลง, และที่ผิวลิ้นจะเริ่มมีรอยแดงและมันวาว
ในรายที่เป็นลิ้นอักเสบรุนแรงจะทำให้รู้สึกเจ็บลิ้นมาก ส่งผลต่อการพูดและการรับประทาน
ลิ้นอักเสบแบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้:
- ลิ้นอักเสบแบบเฉียบพลัน เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมักมีอาการรุนแรง
- ลิ้นอักเสบแบบเรื้อรัง เป็นอาการอักเสบที่ลิ้นที่เกิดขึ้นบ่อยๆเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นสัญญานจากปัญหาสุขภาพอื่นๆได้
- ลิ้นเลี่ยนหรือที่เรียกว่า Hunter’s glossitis เกิดขึ้นเมื่อปุ่มเล็กๆบนลิ้นหดตัวหายไป ทำให้สีและลักษณะของผิวลิ้นเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ลิ้นดูเป็นมันวาว
- Median rhomboid glossitis คือลิ้นอักเสบที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อด้านบนของลิ้น เกิดจากการติดเชื้อราโดยเฉพาะเชื้อราชนิด Candida
สาเหตุของลิ้นอักเสบ
สาเหตุที่ทำให้ลิ้นอักเสบมีหลายสาเหตุ เช่น:
อาการแพ้
เมื่อลิ้นอักเสบเกิดขึ้นเพราะมาจากอาการแพ้ ลิ้นอักเสบชนิดนี้มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ลิ้นจะเกิดการบวมและเจ็บแบบฉับพลัน เนื่องจากแพ้อาหารบางชนิด แพ้ยาหรือสิ่งที่สร้างความระคายเคืองเฉพาะเจาะจงบางชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้
การบาดเจ็บภายในช่องปาก
การบาดเจ็บในช่องปาก เช่นรอยข่วนเกี่ยวเล็กๆจากเหล็กดัดฟัน หรือแผลพองไหม้จากอาหารที่ร้อนเกินไป ก็เป็นสาเหตุทำให้ลิ้นมีการอักเสบและบวมได้
เมื่อการจัดฟันเป็นสาเหตุของอาการลิ้นอักเสบ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นลิ้นอักเสบเรื้อรัง เพราะจะต้องเกิดการบาดเจ็บในช่องปากหรือที่ลิ้นซ้ำๆไปเรื่อยๆจนกว่าจะจัดฟันเสร็จ
โรคอื่นๆ
มีโรคหลายโรคที่เป็นสาเหตุของลิ้นอักเสบ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับการขาดสารอาหาร เช่น โรคเซลิแอค, โรคขาดพลังงานและโปรตีน, และภาวะโลหิตจางที่เรื้อรังและรุนแรง
โรคที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เช่นโรคกลุ่มอาการโจเกรน ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในช่องปากก็อาจนำไปสู่ภาวะลิ้นอักเสบได้
การติดเชื้อ
เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส,และเชื้อรา ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดลิ้นอักเสบทั้งสิ้น โรคเริมซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งและโรคติดเชื้อราเป็นโรคติดเชื้อที่พบว่าเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอาการลิ้นอักเสบ
โภชนาการบกพร่อง
ธาตุเหล็กพร่องเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีธาตุเหล็กในเลือดไม่เพียงพอ สามารถไปกระตุ้นให้เกิดอาการลิ้นอักเสบได้ ตั้งแต่ระดับธาตุเหล็กต่ำไปจนถึงระดับไมโอโกลบินต่ำ สองตัวนี้คือสสารในเลือดที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย รวมไปถึงที่บริเวณลิ้นด้วย
การขาดวิตามินบี12 ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการลิ้นอักเสบได้
อาการของลิ้นอักเสบ
อาการลิ้นอักเสบมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นปัญหาสุขภาพอื่นๆที่ผู้ป่วยมีร่วมด้วย
อาการทั่วไปสำหรับลิ้นอักเสบคือ:
- ลิ้นบวม ปวดลิ้น
- เจ็บที่บริเวณลิ้น
- แสบลิ้น ลิ้นไหม้หรือคัน
- ลักษณะบนผิวลิ้นเปลี่ยนไปเนื่องจากปุ่มบนลิ้นมีขนาดและรูปร่างที่เปลี่ยนไป
- สีบริเวณผิวลิ้นเปลี่ยนไป
- สูญเสียความสามารถในการพูดหรือการกิน
- มีปัญหาในการกลืน
การวินิจฉัย
ผู้ป่วยที่มีอาการลิ้นอักเสบควรไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ ในการตรวจวินิจฉัยแพทย์จะซักถามประวัติและอาการต่างที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย
แพทย์หรือทันตแพทย์จะตรวจในช่องปากและลิ้นของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูความผิดปกติบนผิวลิ้นและมองหาแผลพุพองหรือตุ่มก้อนบนลิ้นหรือเหงือก
แพทย์อาจ swab เอาตัวอย่างน้ำลายไปตรวจและสั่งตรวจเลือดเพื่อตรวจหาปัญหาสุขภาพของภาวะโภชนาการพร่องหรือเพื่อหาโรคอื่นๆ
การรักษาลิ้นอักเสบ
การรักษาอาการลิ้นอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ โดยปกติแล้วอาการลิ้นอักเสบมักมีการตอบสนองต่อการรักษาจากแพทย์ได้ผลดีตั้งแต่ครั้งแรกที่รักษา
แพทย์อาจสั่งจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการลิ้นอักเสบเนื่องมาจากโรคหรือการติดเชื้อ ด้วยยาปฏิชีวนะ, ยาต้านเชื้อรา, หรือยาต้านไวรัส ที่สามารถกำจัดการติดเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อราและเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี
แพทย์อาจสั่งอาหารเสริมให้ในรายที่อาการลิ้นอักเสบเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะโภชนาการบกพร่อง และแพทย์จะให้คำแนะนำวิธีการเพิ่มเติมสารอาหารที่ขาดไปให้กับผู้ป่วย
หากภาวะโภชนาการบกพร่องยังเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหารด้านสุขภาพอื่นๆร่วมด้วย เช่นโรคเซลิแอค แพทย์อาจต้องให้ทำการรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพร่วมด้วย
การป้องกัน
การเกิดลิ้นอักเสบอาจไม่ใช่อาการที่จะสามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการได้โดย:
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- รักษาสุขอนามัยในช่องปากให้ดีอยู่เสมอด้วยการแปรงฟันสม่ำเสมอ ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันและบ้วนปาก
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจสร้างอาการระคายเคือง เช่นอาหารรสจัด, การสูบบุหรี่และอาหารที่มีค่าความเป็นกรดสูง
การเฝ้าติดตาม
ผู้ป่วยที่มีอาการลิ้นอักเสบตามปกติแล้วมักหายสนิท เพียงแค่อาจต้องใช้เวลานานและต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ในระหว่างการรักษา ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจสร้างความระคายเคืองให้กับลิ้น และพยายามรักษาสุขอนามัยในช่องปากด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ
หากอาการยังไม่หายไปหลังจากผ่านไปซักระยะหนึ่ง ควรไปพบแพทย์ ในรายที่ลิ้นมีอาการบวมรุนแรงและเริ่มไปปิดกั้นทางเดินหายใจควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการบวมที่รุนแรงอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆที่รุนแรงได้
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก