เนื้องอกไขมัน (Lipoma) คือก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีเซลล์ไขมันก่อตัวมากเกินไป สำหรับในแวดวงการแพทย์ เนื้องอกไขมัน เป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงซึ่งหมายความว่าเป็นก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีก้อนเนื้องอกไขมันก็อยากจะกำจัดเนื้องอกไขมันออกเพราะทำให้เกิดความเจ็บปวดและเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการอื่น ๆ ได้ บางคนกังวลเกี่ยวกับลักษณะภายนอกบริเวณที่เกิดเนื้องอกไขมัน
เนื้องอกไขมันเกิดขึ้นได้ทุกที่ตามร่างกายที่มีเซลล์ไขมันอยู่แต่มักจะปรากฏที่ไหล่ หน้าอก ลำตัว คอ ต้นขาและรักแร้ บางกรณี ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก เนื้องอกไขมัน อาจเกิดขึ้นในอวัยวะต่าง ๆ ภายในกระดูกหรือกล้ามเนื้อ
เนื้องอกไขมันจับแล้วจะรู้สึกนุ่มนิ่มและอาจไหลไปมาใต้ผิวหนังเมื่อถูกกด เนื้องอกไขมันจะโตช้า ๆ ใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการเกิด และโดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร (ซม.) ในบางกรณี ผู้ป่วยมีเนื้องอกไขมันขนาดใหญ่มาก ๆ ซึ่งอาจใหญ่กว่า 10 ซม.
สาเหตุของเนื้องอกไขมัน
เนื้องอกไขมัน มักไม่ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ
ปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่ทราบที่แน่ชัดว่าสาเหตุของเนื้องอกไขมันคืออะไรบ้าง
บางคนได้รับยีนที่ทำให้เกิดโรคจากพ่อแม่ซึ่งอาจทำให้เกิดเนื้องอกไขมัน อย่างน้อยหนึ่งตัว ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากและเรียกกันว่าภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดเนื้องอกไขมันหลายตำแหน่ง
เนื้องอกไขมันสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในคนที่มีอาการป่วยจำเพาะ เช่น:
- โรคการ์ดเนอร์
- กลุ่มอาการคาวเดน
- โรคมาเดอลัง
- อะดิโพซิสโดโลโรซา
นักวิจัยยังแนะนำด้วยว่า เนื้องอกไขมัน บางตัวอาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บที่มีผลกระทบอย่างมากต่อบริเวณที่เกิดเนื้องอกไขมัน
อาการเนื้องอกไขมัน
เนื้องอกไขมันเวลาจับหรือสัมผัสแล้วมักเป็นก้อนเนื้อรูปไข่อ่อนนุ่มใต้ผิวหนัง ซึ่งโดยปกติแล้ว เนื้องอกไขมันจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดเว้นแต่จะส่งผลต่อข้อต่ออวัยวะ เส้นประสาทหรือหลอดเลือด ในกรณีส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ เลย
คนที่มีเนื้องอกไขมันที่เกิดขึ้นลึกลงไปใต้ผิวหนังอาจไม่สามารถมองเห็นเองหรือสัมผัสได้ อย่างไรก็ตาม เนื้องอกไขมันที่เกิดขึ้นลึกลงไปในชั้นผิวหนังมาก ๆ อาจเข้าไปกดทับอวัยวะภายในหรือเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น ผู้ที่มีเนื้องอกไขมันบนหรือใกล้ลำไส้อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องผูกได้
ผลกระทบต่อสุขภาพ
เนื้องอกไขมันเป็นเซลล์ไขมันก้อน ๆ แต่ไม่มีผลร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วยว่าเนื้องอกไขมันจะมีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่ เซลล์ไขมันที่เป็นมะเร็งเรียกว่าไลโปซาร์โคมา
จากการวิจัยพบว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ข้อสรุปว่าไลโปซาร์โคมาไม่ได้เกิดมาจากเนื้องอกไขมันแต่ที่จริงแล้วเกิดจากเนื้องอกชนิดอื่น โดยยังเชื่ออีกว่าบางครั้งแพทย์เข้าใจผิดว่าไลโปซาร์โคมาเป็นเนื้องอกไขมันก็มี
ในทางกลับกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าเนื้องอกไขมันอาจมีทั้งเซลล์ที่เป็นมะเร็งและเซลล์ก่อนเกิดมะเร็งได้ แต่เนื้องอกไขมันไม่ได้เป็นมะเร็งกันได้ง่าย ๆ
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกไขมัน
คอเลสเตอรอลสูงและโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกไขมัน
เนื้องอกไขมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนทั่วไปมีเนื้องอกไขมัน
ผู้ที่มีญาติในครอบครัวที่มีเนื้องอกไขมันมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเนื้องอกไขมันเช่นกัน เนื้องอกไขมันยังมีแนวโน้มที่จะเกิดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 60 ปี
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในการเกิดเนื้องอกไขมันอาจรวมถึง:
- โรคอ้วน
- คอเลสเตอรอลสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคตับ
- ภาวะแพ้น้ำตาลกลูโคส
เมื่อไรต้องพบแพทย์
หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอกไขมันหรือมีก้อนปรากฏขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์ทันที การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับเนื้องอกไขมัน:
- มีขนาดขยายขึ้นหรือเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีอาการเจ็บหรือปวด
- เปลี่ยนเป็นสีแดงหรือรู้สึกอุ่นร้อน
- กลายเป็นก้อนแข็งหรือกดแล้วแข็ง
- เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ในผิวหนังที่เกิดก้อน
การวินิจฉัยเนื้องอกไขมัน
การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยเนื้องอกไขมันได้
โดยปกติแล้ว แพทย์สามารถวินิจฉัยเนื้องอกไขมันได้ด้วยการตรวจร่างกายทั่วไปก่อน
โดยอาจเริ่มจากการตรวจและคลำก้อนเนื้อ หากเนื้องอกไขมันมีขนาดใหญ่หรือเจ็บปวดแพทย์อาจให้ตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
แพทย์อาจใช้การตรวจดังต่อไปนี้:
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจโดยแพทย์จะนำตัวอย่างเซลล์ขนาดเล็กออกจากก้อนไขมันและตรวจดูเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีสัญญาณของมะเร็งหรือไม่
- การตรวจอัลตราซาวนด์
- การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า
- การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
เมื่อไรที่การผ่าตัดเนื้องอกไขมันมีความจำเป็น
โดยปกติแล้ว เนื้องอกไขมันจะไม่เป็นอันตราย ดังนั้นผู้ที่มีเนื้องอกไขมันส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกไขมันออก แต่อาจจำเป็นต้องตัดเอาเนื้องอกไขมันเมื่อ:
- เป็นมะเร็ง
- ขยายขนาดขึ้นหรือโตอย่างรวดเร็ว
- ทำให้เกิดอาการที่น่ารำคาญ เช่น ปวดและไม่สบายตัว
- รบกวนการทำงานของร่างกายตามปกติ
- ต้องใช้ศัลยกรรมพลาสติกเพื่อซ่อมแซม
- แพทย์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเนื้องอกไขมันเป็นเนื้องอกชนิดอื่น
ขั้นตอนการผ่าตัดเนื้องอกไขมัน
แพทย์มักจะผ่าตัดเอาเนื้องอกไขมันออก โดยวิธีการรักษาอย่างหนึ่งคือการกรีดผิวหนังเล็กน้อยแล้วบีบเอาเนื้องอกไขมันออก ด้วยวิธีการรักษาแบบนี้ แพทย์มักฉีดยาชาเฉพาะที่ในระหว่างทำหัตถการร่วมด้วย และสามารถกลับบ้านได้เลยในวันเดียวกันหลังทำหัตถการเสร็จ
แพทย์อาจต้องทำการผ่าที่เปิดแผลกว้างขึ้นเพื่อกำจัดเนื้องอกไขมันขนาดใหญ่ออกทั้งหมด นอกจากนี้ ยังสามารถกำจัดไขมันบางส่วนโดยใช้การดูดไขมันช่วย ซึ่งในการดูไขมัน แพทย์จะต้องผ่าก้อนเนื้อและสอดท่อกลวงบาง ๆ เข้าไปในแผล จากนั้น แพทย์จะใช้ท่อดูดมวลของเซลล์ไขมันออกจากร่างกาย
หลังการผ่าตัดแล้ว แพทย์มักจะส่งเนื้องอกไขมันที่ดูดออกมาไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์ การผ่าตัดประเภทนี้มักจะเหลือเพียงรอยแผลเป็นเล็ก ๆ เมื่อแผลหายแล้ว
แนวโน้มของโรค
เนื้องอกไขมันไม่เป็นอันตรายและเกิดขึ้นได้ใต้ผิวหนัง เนื้องอกไขมันมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่ต้องรักษาก็ได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกไขมันออกได้หากทำให้เกิดอาการปวดหรืออาการอื่น ๆ หรือผู้ที่มีเนื้องอกไขมันต้องกำจัดเนื้องอกไขมันออกแล้วทำศัลยกรรมซ่อมแซม
เนื้องอกในไขมันอาจเป็นอันตรายหรือเป็นมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเนื้องอกไขมันจะกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเนื้องอกไขมันต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ หากเนื้องอกไขมันทำให้เกิดอาการปวด มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงในลักษณะอื่น
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lipoma/symptoms-causes/syc-20374470
- https://www.healthline.com/health/skin/lumps
- https://www.nhs.uk/conditions/lipoma/
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก