ลอราทาดีน (Loratadine) คืออะไร
30ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการไข้ละอองฟางที่มีสาเหตุมาจากการแพ้สารพวกละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง หรือสารอื่นที่ปะปนอยู่ในอากาศ และใช้บรรเทาอาการแพ้อื่นๆ เช่น จาม น้ำมูกไหล ตาแดง คันที่ตาและน้ำตาไหล คันจมูก คันลำคอ และยังใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันผิวหนัง ผิวหนังแดงที่เกิดจากผื่นลมพิษ แต่ไม่สามารถป้องกันอาการผื่นลมพิษหรือการแพ้อื่นๆ ทางผิวหนังได้
Loratadine เป็นยาอันตรายหรือไม่
ได้มีการปรับลดสถานะยาลอราทาดีนให้อยู่ในบัญชียาที่ไม่เป็นอันตราย เนื่องจากมีการพบว่าคนไทยเฉลี่ย 10-30 % ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ เป็นจำนวนมาก และผู้คนเหล่านี้ก็เข้าถึงยาได้ยาก โดยในต่างประเทศนั้นจัดสถานะของยาลอราทาดีนเป็นยาสามัญประจำบ้าน สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ทางคณะกรรมการ อย. จึงมีความเห็นปรับลดสถานะของยาลอราทาดีน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อยาได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยาขนาดบรรจุแผงละไม่เกิน 10 เม็ดและขนาดกล่องละไม่เกิน 2 แผง ให้สามารถนำเข้ายาเพื่อวางขายยาตามร้านค้าทั่วไป และสามารถขายได้โดยที่ไม่ต้องมีเภสัชกร โดยให้ติดฉลากระบุว่า “ใช้เฉพาะโรคภูมิแพ้ ไม่ลดน้ำมูกในโรคหวัด” กำกับเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด สำหรับผลข้างเคียงหลังจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน จะทำให้เจริญอาหารมากขึ้น และอาการง่วงนอนลดลง ต่างจากยารักษาภูมิแพ้ในกลุ่มเก่าที่รับประทานต่อเนื่องแล้วทำให้เกิดอาการง่วงนอนสะสม
รูปแบบของยา Loratadine
- ชนิดเม็ด ขนาด 10 mg.
- ชนิดน้ำเชื่อมขนาด 5 mg./5 ml.
กลไกการออกฤทธิ์ Loratadine
เมื่อรับประทานยาขนาด 10 mg. ยาจะออกฤทธิ์ภายใน 1-3 ชั่วโมง จะออกฤทธิ์เต็มที่เมื่อผ่าน 8-12 ชั่วโมง และสามารถออกฤทธิ์เป็นระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง เมื่อมีการใช้ยาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 28 วันจะได้ผลค่อนข้างดี
ขนาดยา Loratadine ที่ใช้ในการรักษา
- รับประทานเพียงวันละครั้ง โดยให้รับประทานยาขณะท้องว่าง หรือก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
- สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้รับประทานขนาด 10 mg. ครั้งละ 1 เม็ด หรือ 2 ช้อนชา โดยรับประทานวันละครั้ง
- เด็ก 2-12 ขวบที่น้ำหนักมากกว่า 30 kg.ให้รับประทานยาขนาด 10 mg.
- เด็ก 2-12 ขวบที่น้ำหนักที่น้ำหนักน้อยกว่า 30 kg. ให้รับประทานยาขนาด 5 mg.
ผลข้างเคียงของยา Loratadine
- ปวดศีรษะ
- อาจจะมีอาการง่วง
- อ่อนเพลีย
- หงุดหงิด
- ตาแดง ตามัว
- ปากแห้ง เสียงแหบ
- ปวดท้อง ถ่ายเหลว
- อาจจะมีอาการตับอักเสบ
- มีอาการผมร่วง แต่น้อยมาก
- มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หนังตา ริมฝีปากบวม ผื่นขึ้น ซึ่งเป็นอาการแพ้แบบรุนแรง ควรพบแพทย์ทันที
- มีอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็ว หน้ามืดจะเป็นลม ควรปรึกษาแพทย์
- มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ควรปรึกษาแพทย์
- มีอาการชัก ควรปรึกษาแพทย์
ข้อควรระวังในการใช้ยา Loratadine
- ควรแจ้งแพทย์หากเคยมีอาการแพ้ยา Loratadine
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ไม่ควรใช้ยา
- ควรแจ้งแพทย์หากกำลังใช้ยาและมีการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจทำให้ระดับยาสูงขึ้น
- ควรแจ้งแพทย์หากใช้ยา Cimetidine,Ketoconazole,Erythromycin อาจจะทำให้ระดับยานี้สูงขึ้น
- ควรแจ้งแพทย์หากเคยเป็นโรคไต
- ควรแจ้งแพทย์หากเคยเป็นโรคตับ และไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาที่ขับออกทางตับ
- ห้ามเคี้ยวยา หรือบดยา
- หากมีการรับประทานยาเกินขนาด สำหรับผู้ป่วยที่รู้สึกตัว ให้ทำให้เกิดการอาเจียน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ให้รับประทานผง Ultracarbon เพื่อลดการดูดซึมของยา ห้ามกระตุ้นให้อาเจียนเพราะอาจสำลักอาหาร
- ควรแจ้งและปรึกษาแพทย์หากต้องการใช้ยาในสตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
- ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากมีการรับประทานยาอื่นๆอยู่ เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้
- ระวังการใช้ยาในผู้ที่มีประวัติคลื่นหัวใจผิดปกติ
การเก็บรักษายา Loratadine
- เก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดภาชนะให้สนิท
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้องโดยไม่เก็บในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส
- ไม่ให้ยาถูกแสงแดดโดยตรง
- ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
- ทิ้งยาอย่างถูกต้องเมื่อยาหมดอายุหรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา
สามารถซื้อยา Loratadine ได้อย่างไร
ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป หรือสามารถให้แพทย์สั่งยาให้ได้เช่นกัน หลายคนมักเลือกยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน ในการบรรเทาอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งยาแก้แพ้ทั้งสองชนิด คือชนิดที่ทำให้ง่วงและยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง สามารถใช้บรรเทาอาการแพ้ที่เกิดจากการหลั่งฮีสตามีนได้คล้ายกัน แต่มีระยะเวลาออกฤทธิ์ต่างกัน ในการทานยาอาจมีผลข้างเคียงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยา และให้บรรเทาอาการแพ้โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ หมั่นออกกําลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก