ม้ามแตก (Ruptured Spleen) : อาการ สาเหตุ การรักษา

ม้ามแตก (Ruptured Spleen) : อาการ สาเหตุ การรักษา

27.04
37146
0

ม้ามสามารถแตก (Ruptured Spleen) หรือบาดเจ็บได้จากการถูกกระแทกบริเวณหน้าท้อง

ม้ามเป็นอวัยวะที่อยู่ในส่วนบนของช่องท้องด้านซ้ายใต้ซี่โครง มีขนาดประมาณกำปั้นที่กำแน่นและมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการติดเชื้อและกรองเลือด 

หน้าที่ของม้ามมีหลายอย่าง รวมถึงการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันและแอนติบอดี นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการกำจัดเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติหรือเก่า รวมทั้งสิ่งแปลกปลอม เช่นแบคทีเรียและไวรัสออกจากเลือด 

ม้ามยังสามารถนำฮีโมโกลบินกลับมาใช้ใหม่ด้วย ซึ่งเป็นส่วนประกอบในเลือดที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและเก็บเกล็ดเลือดเพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัว

ชั้นนอกของม้ามเหนียวและยืดหยุ่นซึ่งมีเส้นใยกล้ามเนื้อปกคลุมอยู่ การบาดเจ็บจากการกระแทกที่ช่องท้องอาจทำให้ชั้นนี้แตกได้

อาการม้ามแตก

อาการของม้ามแตกมักมาพร้อมหรือสัมพันธ์กับการบาดเจ็บอื่นๆ ที่เกิดจากการบาดเจ็บที่ช่องท้อง

ตัวอย่างของการบาดเจ็บอื่นๆ ได้แก่ กระดูกซี่โครงหัก กระดูกเชิงกรานหัก และการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

ตำแหน่งของม้ามอยู่ด้านบนซ้าย เมื่อเกิดการบาดเจ็บที่อวัยวะนี้ อาจทำให้เกิดอาการปวดที่ส่วนบนซ้ายของช่องท้อง อย่างไรก็ตามม้ามแตกยังสามารถเจ็บปวดในตำแหน่งอื่นๆได้ด้วย เช่น ผนังหน้าอกด้านซ้ายและไหล่ซ้าย

อาการปวดที่ไหล่ซ้ายที่เป็นผลมาจากม้ามแตกเรียกว่า Kehr’s sign อาการนี้จะแย่ลงเมื่อหายใจเข้า ม้ามแตกอาจทำให้เกิดอาการปวดที่ไหล่ซ้ายได้ เนื่องจากเลือดออกจากม้ามอาจระคายเคืองเส้นประสาท เฟรนิค (phrenic)  ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เกิดขึ้นที่คอและขยายออกไปทางกะบังลม

อาการปวดท้องเป็นสัญญาณที่พบบ่อยที่สุดของการบาดเจ็บภายในช่องท้อง แต่ไม่จำเพาะเจาะจงกับการบาดเจ็บของม้าม

อาการอื่นๆที่พบได้ ได้แก่ :

  • วิงเวียนศีรษะ (dizziness)
  • สับสน
  • ตามัว (blured eyes)
  • เป็นลม

รวมไปถึงอาการช็อค    กระสับกระส่าย วิตกกังวล คลื่นไส้ และหน้าซีด

อาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการสูญเสียเลือดและความดันโลหิตลดลง

การรักษาม้ามแตก

การรักษาม้ามแตกมีสองประเภทหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัด และการสังเกต

หลายคนที่มีม้ามแตกจะมีเลือดออกอย่างรุนแรง ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดที่หน้าท้องทันที ศัลยแพทย์จะทำการผ่าเปิดหน้าท้องและทำการผ่าตัดด้วยวิธีที่เรียกว่า Laparotomy 

สำหรับผู้ที่มีภาวะม้ามแตกรุนแรงน้อย แพทย์มักจะใช้การสังเกตแทนการผ่าตัด อย่างไรก็ตามบุคคลเหล่านี้ยังคงต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องและมักจะต้องได้รับการถ่ายเลือด

คนที่มีการแตกของม้ามระดับต่ำและไม่มีสัญญาณของการบาดเจ็บอื่นๆในช่องท้อง โดยทั่วไปจะมีความคงที่ทางระบบไหลเวียนโลหิต นั่นหมายความว่าความดันโลหิตจะค่อนข้างปกติ

เมื่อไม่นานมานี้การรักษาอาการบาดเจ็บที่ม้าม มักมีการตัดม้ามออกอย่างสมบูรณ์

การรักษาโดยไม่ผ่าตัดถือเป็นการรักษาที่ทันสมัยในผู้ใหญ่ที่ม้ามแตก และยังพัฒนาปรับเปลี่ยนไปใช้ในผู้ป่วยเด็กด้วย  ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ศัลยแพทย์ผ่าตัดเอาม้ามออกเป็นประจำ เมื่อมีหลักฐานการแตกของม้าม

ในปัจจุบันพบการหลีกเลี่ยงการผ่าตัดในเด็กร้อยละ 95 และร้อยละ 60 ในผู้ใหญ่ที่มีการแตกของม้าม

เมื่อทำการผ่าตัดการผ่าตัดเอาม้ามออกทั้งหมดเป็นเรื่องปกติ แม้ว่ากรณีที่รุนแรงน้อยศัลยแพทย์อาจซ่อมแซมการฉีกขาดของม้าม และใช้แรงดันกดม้ามจนกว่าเลือดจะหยุดไหล

ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ในรักษาแบบประคับประคอง มักจะได้รับการสแกนเพิ่มเติมเพื่อประเมินและติดตามอาการ รวมไปถึงการสแกนด้วยเครื่องเอกเรย์คอมพิวเตอร์ (CT sacn) 

ผู้ป่วยที่อาการคงที่อาจได้รับการรักษาในขั้นตอนที่เรียกว่า การอุดเส้นเลือด (Splenic Embolization) ขั้นตอนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดเลือดออกจากม้าม ขั้นตอนนี้มักจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเอาม้ามออกได้

การอุดเส้นเลือดของม้ามต้องอาศัยความชำนาญพิเศษและเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง รวมถึงศัลยแพทย์หลอดเลือด หรือนักรังสีวิทยา พวกเขาจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการใส่สายสวนหลอดเลือดบางประเภทมาก่อน และเคยมีประสบการณ์อุดเส้นเลือดมาก่อน

การผ่าตัดเอาม้ามออก

เรียกอีกอย่างว่า การตัดม้าม โดยปกติจะดำเนินการในระหว่างการผ่าตัดช่องท้องฉุกเฉินกับผู้ป่วยที่อาการไม่คงที่

ในบางกรณีที่ม้ามได้รับบาดเจ็บรุนแรงน้อยกว่า อวัยวะที่บาดเจ็บมากกว่าอาจได้รับการซ่อมแซมก่อนในระหว่างการผ่าตัด แทนที่จะนำม้ามออกทั้งหมดอาจได้รับการซ่อมแซมด้วยการตัดแต่ง ซ่อมแซม หรือการเย็บ อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่น้อยมากสำหรับตัวเลือกเหล่านี้

การพักฟื้น

หลังจากซ่อมแซมหรือตัดม้ามออกแล้ว การฟื้นตัวอาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์

การพักผ่อนและการให้เวลากับร่างกายได้ฟื้นตัวเป็นสิ่งสำคัญ สามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกติหลังจากได้รับการรักษาจากแพทย์หรือแพทย์อนุญาติเท่านั้น ผู้ที่เล่นกีฬาควรกลับมาออกกำลังกายทีละเล็กน้อยเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะกลับมาฝึกซ้อมหรือออกกำลังกายตามปกติ

คนทั่วไปสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากม้าม แต่บทบาทของม้ามในระบบภูมิคุ้มกันมีความสำคัญ เพราะฉะนั้นการตัดม้ามออกหรือการบาดเจ็บของม้าม อาจส่งผลร้ายแรงต่อความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อ ซึ่งหมายความว่าทุกคนที่ได้รับการตัดม้ามควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัส ( Pneumococcus.) ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน เมนิงโกคอคคัส (Meningococcus) และ แฮร์โมฟิลัส อินฟูเอนซา ชนิด บี (Haemophilus influenzae type B)

โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนเหล่านี้จะได้รับ 14 วัน ก่อนการตัดม้ามในการผ่าตัดแบบทางเลือก หรือ 14 วันหลังการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉิน

เด็กที่ได้รับการตัดม้ามอาจต้องกินยาปฏิชีวนะทุกวันเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ สิ่งนี้อาจมีความสำคัญสำหรับผู้ที่มีภาวะแพ้ภูมิตัวเอง เช่น เอชไอวี (HIV) และในช่วง 2 ปีหลังจากการกำจัดม้าม

แม้จะฟื้นตัวแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าคุณไม่มีม้ามอีกต่อไป เนื่องจากอาจส่งผลต่อการรักษาในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนหลักของม้ามแตกคือ เลือดออก และปัญหาที่อาจมาจากผ่าตัด เช่นซีสต์และลิ่มเลือดอุดตัน

การตกเลือดภายหลัง และการเสียการทำงานของม้าม อาจเป็นผลมาจากม้ามแตก มักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการผ่าตัดม้ามออก 

การลดลงของภูมิคุ้มกันหลังจากการตัดม้าม อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

Ruptured Spleen

สาเหตุของม้ามแตก

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของม้ามแตกคือการบาดเจ็บที่ช่องท้อง โดยปกติจะเป็นผลมาจากการชนกันซึ่งเกิดจากการจราจรบนท้องถนน อย่างไรก็ตามการแตกของม้ามสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและการทำร้ายร่างกาย

ม้ามเป็นอวัยวะในช่องท้อง ที่มักเกิดการบาดเจ็บได้ในระหว่างการบาดเจ็บทางร่างกาย

นอกเหนือจากการบาดเจ็บที่ช่องท้องแล้ว การแตกร้าวของม้ามอาจเกิดจากการฉีกขาด เช่น จากบาดแผลมีดแทง ตำแหน่งของม้ามอยู่ใต้ซี่โครงนั้นหมายความว่า ซี่โครงไม่สามารถป้องกันการบาดเจ็บจากการเจาะทะลุได้

การรักษาทางการแพทย์บางครั้งอาจทำให้ม้ามแตกเป็นได้ ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ได้ตั้งใจ การบาดเจ็บที่ม้ามในระหว่างการรักษาทางการแพทย์ส่วนใหญ่เกิดจากการผ่าตัดช่องท้อง หรือการผ่าตัดส่องกล้อง สามารถพบการบาดเจ็บได้ดังต่อไปนี้:

  • การฉีกขาดของแคปซูลของม้าม
  • การฉีกขาดจากการใช้อุปกรณ์ดึง 
  • แรงตรึงที่ม้ามระหว่างการผ่าตัดลำไส้ใหญ่

ในบางกรณีการแตกของม้ามไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ การบาดเจ็บรูปแบบนี้เรียกว่าการบาดเจ็บแบบไม่มีบาดแผล และมักเป็นผลมาจากโรคของม้าม บางครั้งม้ามที่ปกติและมีสุขภาพดีอาจแตกได้แม้ว่าจะพบได้น้อยก็ตาม

สาเหตุอื่นๆที่อาจนำไปสู่การแตก ได้แก่ :

  • การติดเชื้อ รวมไปถึงมาลาเรีย  
  • มะเร็งระยะแพร่กระจาย
  • โรคเมตาบอลิค (Metabolic disorders) 
  • โรคเลือดและโรคหลอดเลือดแดง

การวินิจฉัยอาการม้ามแตก

แพทย์จะมองหาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับกะบังลม ตับอ่อน และลำไส้ ร่วมด้วย 

แพทย์ที่สงสัยว่าม้ามแตกจะตรวจช่องท้องก่อน เพื่อหาจุดกดเจ็บหรือการขยายตัวของช่องท้อง อันเป็นผลมาจากการสะสมของของเหลวโดยส่วนใหญ่จะเป็นเลือด ในการตรวจนี้แพทย์จะใช้แรงกดเบาๆที่หน้าท้อง

สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการบาดเจ็บ อาจยังคงมีม้ามแตกแม้ว่าการตรวจช่องท้องจะไม่พบความผิดปกติ 

อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะต้องดำเนินการตรวจอะไรต่อในขั้นต่อไป

เลือดออกภายในช่องท้อง อาจสังเกตได้จากความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นของหัวใจสูงและการสแกนอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (FAST) หากผลตรวจเหล่านี้บ่งบอกถึงการแตกของม้าม ผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดช่องท้องอย่างเร่งด่วนเพื่อหาแหล่งที่มาของเลือด

การสแกนอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (FAST) เป็นวิธีการวินิจฉัยที่ละเอียดที่สุดสำหรับการบาดเจ็บที่ช่องท้อง แม้ว่าผลการสแกนที่ปกติอาจไม่สามารถแยกแยะการแตกของม้ามได้

ในผู้ที่มีสัญญาญชีพคงที่ โดยทั่วไปจะใช้ CT scan เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ระดับของการบาดเจ็บ

ในกรณีการบาดเจ็บฉุกเฉิน การสแกนอัลตร้าซาวด์จะทำพร้อมกับการตรวจร่างกายและการจัดการอื่นๆโดยไม่หยุดทำทีละอย่าง  การสแกนนี้ทำตามแบบการประเมิน (Sonography for trauma FAST protocol)  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นสูงในผู้ป่วยอุบัติเหตุ (Advanced trauma life support :ATLS) ที่พัฒนาโดย สมาคมศัลแพทย์อเมริกา (American College of Surgeons) 

อัลตร้าซาวด์แบบ FAST ช่วยให้แพทย์สามารถสแกนหาของเหลวในสี่ส่วนของช่องท้องรวมถึงช่องว่างรอบม้าม

การเจาะวิเคราห์ของเหลวในช่องท้อง (Diagnostic peritoneal aspiration :DPA) หรือ (Diagnostic peritoneal lavage :DPL) เป็นการตรวจวินิจฉัยอีกอย่างที่อาจใช้ แพทย์จะดึงของเหลวออกจากช่องท้อง ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยทำ โดยส่วนใหญ่ม้ามแตกมักถูกระบุโดยการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT scan) 

ในบางกรณี เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีนิ่วในไตหรือแพ้สารคอนทราสต์ที่ใช้ในการสแกน CT scan ผู้ป่วยที่มีสัญญาญชีพปกติและสงสัยว่าม้ามแตกอาจได้รับการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI)  การสแกนนี้ยังสามารถระบุปัญหาเกี่ยวกับเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกายได้ด้วย 

ระดับการบาดเจ็บ 

การบาดเจ็บที่ม้ามแบ่งตามความรุนแรงโดยคำนึงถึงระดับของการฉีกขาด การบาดเจ็บที่หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดง และการแข็งตัวของเลือด กำหนดโดยสมาคมศัลยแพทย์อุบัติเหตุอเมริกา (American Association for the Surgery of Trauma grading system for spleen injury) มีดังนี้:

  • ระดับ 1: ขั้นนี้เกี่ยวข้องกับการฉีกขาดของแคปซูลที่ลึกลงไปน้อยกว่า 1 เซนติเมตร  ลึกเข้าไปในม้าม หรือการสะสมของเลือดที่จับตัวเป็นก้อน หรือที่เรียกว่าห้อเลือดใต้แคปซูล โดยห้อเลือดนี้ครอบคลุมพื้นที่ผิวของม้ามน้อยกว่าร้อยละ 10 
  • ระดับ 2: ในขั้นนี้มีการฉีกขาด 1 ถึง 3 เซนติเมตรเกิดขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิ่งก้านของม้าม หรืออีกทางหนึ่งคืออาจเกิดเลือดออกใต้แคปซูลซึ่งครอบคลุมระหว่างร้อยละ 10 ถึง 50 ของพื้นที่ผิว ระดับนี้อาจเกี่ยวข้องกับก้อนเลือดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 เซนติเมตรในเนื้อเยื่อของม้าม 
  • ระดับ 3: การแตกในระยะกลาง เป็นการฉีกขาดลึกมากกว่า 3 เซนติเมตรนอกจากนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับหลอดเลือดแดงม้าม หรือเลือดที่ปกคลุมพื้นที่ผิวกว่าครึ่งหนึ่งของม้าม การแตกระดับ 3 อาจหมายความว่ามีเลือดอยู่ในเนื้อเยื่อ ที่มีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตรหรือขยายตัวมากกว่า 
  • ระดับ 4: คือการฉีกขาดที่ทำให้เส้นเลือดปล้อง หรือฉีดขาดของเส้นเลือดหลัก และทำให้สูญเสียเลือดไปเลี้ยงอวัยวะมากกว่าร้อยละ 25 
  • ระดับ 5: เป็นการฉีกขาดที่รุนแรงมาก ซึ่งทำให้เส้นเลือดบางส่วนขาดและทำให้สูญเสียเลือดไปเลี้ยงอวัยวะทั้งหมด ขั้นนี้อาจหมายถึงการที่ห้อเลือดทำให้ม้ามแตกอย่างสมบูรณ์

ข้อเท็จจริงโดยย่อเกี่ยวกับม้ามแตก

  • สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการแตกของม้ามคือการบาดเจ็บที่ช่องท้อง
  • ม้ามเป็นอวัยวะในช่องท้องที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในระหว่างการบาดเจ็บจากการบาดเจ็บที่ช่องท้อง
  • แพทย์จะวินิจฉัยม้ามแตกโดยการตรวจช่องท้อง และใช้อัลตร้าซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ขึ้นอยู่กับลักษณะการบาดเจ็บ
  • การผ่าตัดเอาม้ามออกไม่จำเป็นเสมอไป การสังเกตอาการและการรักษาแบบประคับประคองอาจเหมาะสมในผู้ป่วยบางรายที่ไม่รุนแรง

นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา

Комментарии (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *