Chlorpheniramine คือ
Chlorpheniramine หรือ cpm มีชื่อสามัญคือคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) อยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์โดยต้านการทำงานของสารฮีสทามีนซึ่งเป็นสารที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างขึ้นและก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อภูมิแพ้ ยาคลอเฟนิรามีนจึงใช้บรรเทาอาการภูมิแพ้ต่าง ๆ ดังนี้
- น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ตาแดง คันดวงตา คันจมูก
- คันคอ จาม เกิดลมพิษ ผื่นคัน
- ใชเลดน้ำมูกเมื่อเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่
แพทย์อาจใช้รักษาอาการอื่น ๆ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมด้วย
คลอเฟนิรามีนเป็นยาแก้แพ้ที่นิยมใช้กันมาก เป็นยาสามัญที่มีการใช้กันมากเป็นอันดับ 2 ของยาสามัญประจำบ้านรองจากยาพาราเซตามอล เนื่องจากเป็นยาแก้แพ้ราคาไม่แพง ปลอดภัย โอกาสแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงจากยามีค่อนข้างน้อย และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป มีทั้งยาสูตรเดี่ยว (ทั้งยาเม็ดสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และยาน้ำสำหรับเด็ก) และยาสูตรผสมกับยาแก้หวัด หรือยาลดไข้ ซึ่งการเลือกใช้ยานั้นต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
Chlorpheniramine คือยาที่ปลอดภัย โดยการจัดระดับความปลอดภัยสำหรับคนท้อง อยู่ในประเภท Pregnancy category B ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ยังไม่มีรายงานถึงอันตรายที่รุนแรงจากการใช้ยานี้ แม้จะใช้ติดต่อกันมานานก็ตาม ยานี้สามารถขับออกทางน้ำนมได้ จึงต้องระมัดระวังการใช้ยา ในกรณีของหญิงที่กำลังให้นมบุตรด้วย
ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาแก้แพ้คลอเฟนิรามีน
ยานี้มีฤทธิ์ต้านฮิสตามีน จึงบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ไข้ละอองฟางที่มีสาเหตุจากอาการแพ้สารพวกละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง หรือสารอื่นในอากาศ โรคเยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ ลมพิษ อาการแพ้อาหารและยา ตาแดง คันที่ตาและน้ำตาไหล คันจมูกและลำคอ และใช้ลดน้ำมูกไหล อาการเนื่องจากหวัด บรรเทาอาการคันที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ
ข้อควรระวังการใช้ยา Chlorpheniramine
- ไม่ควรใช้ยานี้ หากเคยมีอาการแพ้ยาหรือแพ้สารที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยา
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมที่กำลังใช้อยู่
- ผู้ที่เคยใช้ยาโซเดียมออกซีเบต (Sodium Oxybate) ยากลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAOI) ยากันชักกลุ่มไฮแดนโทอิน (Hydantoins) หรือยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) มาจำเป็นต้องรอให้ครบ 14 วันก่อน จึงรับประทานยาแก้แพ้ cpm ได้
- หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- ผู้ขับขี่รถยนต์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยา เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึม ตาพร่า หรือวิงเวียน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอ ล์เนื่องจากจะยิ่งทำให้เกิดผลข้างเคียง
- ผู้ป่วยโรคหอบหืด ต้อหิน โรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน ปัสสาวะไม่ออก หรือโรคต่อมลูกหมากโตไม่ควรใช้ยานี้
- ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนนำยามาใช้ หากป่วยเป็นโรคตับ โรคไต โรคเกี่ยวกับปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ โรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน โรคกระเพาะปัสสาวะอุดตัน เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ทำงานสูงผิดปกติ ลมชัก หรือแพ้ยาและอาหารใด ๆ
- ยานี้อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสง จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดด แสงไฟ และทาครีมกันแดดหรือสวมเสื้อผ้าคลุมผิว หากต้องอยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน
- ควรหยุดรับประทานยาอย่างน้อย 7 วัน หากจะทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เนื่องจากยาอาจส่งผลให้การตอบสนองของตัวอย่างลดลง ทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อน
- ระมัดระวังการใช้ยานี้กับเด็กและผู้สูงอายุ เพราะจะเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หากจำเป็นควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ผลข้างเคียงของยาคลอเฟนิรามีน
ยาแก้แพ้ Chlorpheniramine maleate มักทำให้ง่วงซึม มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว การมองภาพไม่ชัดเจน ปาก คอ จมูกแห้ง (แนะนำว่าควรลูกกวาดที่ไม่หวานนักหรือดื่มน้ำเพื่อบรรเทาอาการ) ใจสั่น ความดันโลหิตลดลง หงุดหงิด มือสั่น คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเบื่ออาหาร หรือไม่เจริญอาหาร ท้องเสีย ไม่สบายท้อง ท้องผูกเนื่องจากฤทธิ์ของแอนติโคลิเนอร์จิก ปัสสาวะได้ลำบาก เป็นลมพิษ ผื่นคัน เป็นต้น
ผลข้างเคียงระดับรุนแรงของยานี้ คือ เกิดปัญหาในการมองเห็น เช่น มองเห็นได้ไม่ชัด มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ อาการกระวนกระวาย ตื่นเต้น หวาดวิตก นอนไม่หลับ (พบบ่อยในเด็ก) หน้ามืด วิงเวียนเหมือนจะเป็นลม หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก ปัสสาวะลำบาก การชัก การเกร็งของกล้ามเนื้อ และการเกร็งใบหน้า เป็นต้น
ยานี้อาจทำให้เสมหะหรือเสลดเหนียวข้น และกำจัดออกมาได้ยาก จึงไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการไอ มีเสมหะหรือเสลด เช่น โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ
กรณีเด็กเล็ก การใช้ยานี้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายหรือชักเกร็งได้
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก