ถั่วลิสงเป็นพืชตระกูลถั่ว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arachis hypogaea ชื่อภาษาอังกฤษว่า Peanuts ถิ่นกำเนิดของถั่วสันนิษฐานว่ามาจากอเมริกาใต้ในบราซิล หรือเปรู นักวิทยาศาสตร์พบเครื่องปั้นดินเผาอายุ 3,500 ปีเป็นรูปถั่วลิสง และตกแต่งด้วยถั่วลิสงในอเมริกาใต้
ถั่วลิสงเติบโตใต้พื้นดิน ในช่วงต้นปี 1800 ชาวอเมริกันเริ่มปลูกถั่วลิสงเป็นพืชผลทางการค้า หลังจากนั้นมีการแพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับอาหารจากถั่วลิสงที่นิมกันอย่างมากคือ เนยถั่ว
ประโยชน์ต่อสุขภาพของถั่วลิสง
หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าถั่วลิสงไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับถั่วอย่างพวกอัลมอนด์ วอลนัท หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่ที่จริงแล้ว ถั่วลิสงมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่างเหมือนกันกับถั่วเหล่านั้นที่มีราคาแพงกว่า
1. ถั่วลิสงดีต่อสุขภาพหัวใจ
วอลนัท และอัลมอนด์ได้รับคำชมอย่างมากว่า “ดีต่อสุขภาพหัวใจ” เนื่องจากมีไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณสูง แต่การวิจัยชี้ให้เห็นว่าถั่วลิสงมีประโยชน์ต่อสุขภาพของหัวใจเช่นเดียวกัน
ถั่วลิสงช่วยป้องกันโรคหัวใจโดยการลดระดับคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็ก และลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง
2. ถั่วลิสงช่วยลดน้ำหนักได้
อาหารที่มีโปรตีนมากจะช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มโดยที่มีแคลอรีน้อยลง และในบรรดาถั่วต่างๆ ถั่วลิสงนั้นเป็นอันดับ 2 รองจากอัลมอนด์เท่านั้นในเรื่องของโปรตีน การศึกษาพบว่า ผู้ที่รับประทานถั่วลิสงในปริมาณปานกลางในอาหารจะช่วยส่งเสริมการลดน้ำหนักได้จากการได้รับแคลอรี่ที่ลดลง
3. ถั่วลิสงอาจจะช่วยให้อายุยืน
การรับประทานถั่วลิสงอาจช่วยให้คุณมีอายุยืนยาวขึ้นได้ มีการศึกษาที่พบว่า คนที่รับประทานทั่วหลายๆ ชนิดเป็นประจำ (รวมถึงถั่วลิสง) มีโอกาสน้อยกว่าคนที่ไม่รับประทานถั่วที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ
แต่เนื่องจากการศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสังเกต จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าถั่วลิสงเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการตายลดลงอย่างแน่นอน บอกได้เพียงว่ามีแนวโน้มว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง
4. ถั่วลิสงลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
ถั่วลิสงเป็นอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งหมายความว่า การรับประทานถั่วลิสงจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น การศึกษาพบว่า การรับประทานถั่วลิสงสามารถลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 ในผู้หญิงได้
5. ถั่วลิสงช่วยลดการอักเสบ
ถั่วลิสงเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ดี ซึ่งช่วยลดการอักเสบทั่วร่างกาย และช่วยระบบย่อยอาหารให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์
6. ถั่วลิสงอาจช่วยป้องกันมะเร็ง
มีงานวิจัยในผู้สูงอายุ พบว่า การรับประทานเนยถั่วอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารบางชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Gastric non cardia adenocarcinoma) แต่ทั้งนี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันความชัดเจน
โภชนาการของถั่วลิสง
ถั่วลิสงอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน และไฟเบอร์ แม้ว่าถั่วลิสงอาจมีไขมันจำนวนมาก แต่ไขมันส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในถั่วนั้นเป็นไขมันดี ไขมันชนิดนี้ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้จริง
อีกทั้งถั่วลิสงยังเป็นแหล่งที่ดีของ
- แมกนีเซียม
- โฟเลต
- วิตามินอี
- ทองแดง
- อาร์จินีน
สารอาหารต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ถั่วลิสงดิบ ¼ ถ้วยประกอบด้วย
- แคลอรี่: 207
- โปรตีน: 9 กรัม
- ไขมัน: 18 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต: 6 กรัม
- โปรตีน: 9 กรัม
- ไฟเบอร์: 3 กรัม
- น้ำตาล: 1 กรัม
ข้อควรระวังของการบริโภคถั่วลิสง
แม้ว่าถั่วลิสงจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แแต่ว่ามีบางคนที่แพ้ถั่วลิสง การแพ้ถั่วลิสงเป็นการแพ้อาหารที่สามารถส่งผลเป็นอันตรายถึงกับชีวิต
การแพ้ถั่วลิสงเล็กน้อยสามารถแสดงอาการลมพิษ คลื่นไส้ หรือใบหน้าบวม อย่างไรก็ตามการแพ้ถั่วลิสงอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตที่เรียกว่า แอนาฟิแล็กซิส อาการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ หายใจลำบาก รวมถึงอาจทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ชัก อาการเจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ ใบหน้า ปาก หรือลิ้นบวม เป็นต้น
หากสังเกตว่าเกิดความผิดปกติจากการรับประทานถั่วลิสงควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
วิธีการรับประทานถั่วลิสงแบบต่างๆ
ถั่วลิสงสามารถรับประทานดิบ ลวก คั่ว ต้ม ทอด ผง หรือทำเป็นเนยถั่วได้ ควรรับประทานเปลือกบางๆ ที่ติดกับเมล็ดถั่ว เพราะเป็นส่วนที่มีประโยชน์ทางโภชนาการมากที่สุด เนื่องจากผิวนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระและไฟโตเคมิคอลมากมาย การเพิ่มถั่วลิสงในอาหารทำได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น
- อบถั่วลิสงเป็นคุกกี้ หรือพาย
- ทำแซนด์วิชเนยถั่ว และกล้วย
- ใส่เนยถั่วลงในครีมทาขนมปัง
- เติมโยเกิร์ตด้วยถั่วลิสง
- ใส่ถั่วลิสงในสลัด
- ใส่ถั่วลิสงลงในก๋วยเตี๋ยว
- ผสมถั่วลิสงเป็นส่วนผสมอาหาร
- ปอเปี๊ยะจิ้มด้วยซอสถั่วลิสง
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก