

การรักษา
การรักษามีเป้าหมายหลักคือการรักษาที่โรคประจำตัวซึ่งเป็นสาเหตุของอาการ หรือมุ่งหวังเพื่อบรรเทาอาการปวดและป้องกันการทำลายระบบประสาทที่อาจเกิดเพิ่มขึ้นได้
ในกรณีของภาวประสาทอักเสบที่เกิดจากโรคเบาหวาน เป้าหมายการรักษาคือลดระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติลงเพื่อป้องกันเส้นประสาทที่ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้นได้
ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากการได้รับสารพิษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารพิษที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ หรือหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุเพื่อยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดต่อเส้นประสาท
การรักษาโดยการใช้ยาจะสามารถบรรเทาอาการปวดและลดอาการปวดแสบปวดร้อน อาการชา รวมไปถึงความรู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่เกิดขึ้นน้อยลงได้
ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะปวดประสาท
การให้ยาเพื่อใช้รักษา มีดังนี้
- ยาที่ใช้ทั่วไปสำหรับรักษาโรคลมชัก เช่นยา carbamazepine
- ยาต้านเศร้า เช่น ยา venlafaxine
- ยาบรรเทาอาการปวดในกลุ่ม opioid เช่น ยา oxycodone หรือ ยา tramadol
ยาบรรเทาอาการปวดในกลุ่ม opioid อาจจะต้องระมัดระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ยา Duloxetine มักใช้รักษาภาวะประสาทอักเสบที่เกิดจากการใช้ยาเคมีบำบัด
แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้แผ่นแปะผิวหนัง ยกตัวอย่างเช่น Lidoderm เพื่อบรรเทาอาการปวดเฉพาะที่แบบชั่วคราว เนื่องจากในตัวแผ่นแปะนี้ประกอบไปด้วยยาชา lidocaine ซึ่งมีฤทธิ์เฉพาะที่ แผ่นแปะผิวหนังจะมีลักษณะคล้ายกับผ้าพันแผลซึ่งผู้ใช้สามารถตัดเพื่อกะขนาดที่จะใช้เองได้
การเลือกใช้ยาควรคำนึงถึงยาที่ใช้ในการรักษาภาวะอื่นๆหรือโรคอื่นเพิ่มเติมด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา
การจัดการกับภาวะประสาทอักเสบ
ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น ยา ibuprofen อาจจะสามารถควบคุมอาการปวดได้ ยาชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาทั่วไป
ยาขี้ผึ้งหรือยาครีมที่ใช้ทา เช่น ยารูปแบบครีม capsaicin ความแรง 0.075 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีส่วนประกอบของพริกขี้หนูจะสามารถบรรเทาอาการปวดลงได้ นอกจากนี้แผ่นแปะแก้ปวดก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
การรักษาภาวะประสาทอักเสบที่มีความผิดปกติที่เส้นประสาทเพียง 1 เส้น (mononeuropathy)
ภาวะประสาทอักเสบจะเกิดขึ้นจากการที่มีการกดทับบริเวณเส้นประสาทเพียง 1 เส้น โดยการรักษาก็มักจะรักษาเหมือนกับภาวะประสาทอักเสบดังที่ได้กล่าวไป โดยแนวทางการรักษาจะขึ้นกับการกดทับเส้นประสาทนั้นเกิดขึ้นถาวรหรือชั่วคราว
อาการอัมพาตของเส้นประสาท ulnar radial หรือเส้นประสาทส่วนปลายนั้นอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและสามารถกลับมาเป็นปกติได้ เพียงแค่หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาท เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาตจากเส้นประสาท ulnar ก็ไม่ควรใช้ข้อศอกข้างที่มีปัญหาในการพิง
ผู้ป่วยอาจจะได้รับคำแนะนำในการปฎิบัติตัวคือให้พักใช้อวัยวะที่มีพยาธิสภาพของโรคและใช้ความร้อนประคบ นอกจากนี้อาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบโดยมีการใช้ยาในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม
กลุ่มอาการผังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (carpal tunnel syndrome) การรักษาแบบประคับประคองโดยการใช้อุปกรณ์ผยุงข้อมือ (splinting) การให้ยา corticosteroid ในรูปแบบรับประทานหรือแบบฉีด รวมไปถึงการทำอัลตราซาวด์ (ultrasound)
ในผู้ที่มีภาวะประสาทอักเสบที่มีความผิดปกติกับเส้นประสาทเพียง 1 เส้นซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น การผ่าตัดอาจจะเป็นทางเลือกในการรักษา นอกจากนี้การรักษาโดยการผ่าตัดมักจำเป็นต้องทำหากผู้ป่วยมีการกดทับของเส้นประสาทแบบภาวร เช่น การเป็นมะเร็งมากดทับบริเวณเส้นประสาท
การส่งต่อผู้ป่วยไปยังแพทย์ที่เฉพาะทางในการรักษาอาการปวดหรือคลีนิคเฉพาะทางควรพิจารณาภาวะดังต่อไปนี้ :
- มีอาการปวดรุนแรง
- มีอาการปวดมากจนมีผลลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีการดำเนินไปของโรคที่แย่ลง
อาการปลายประสาทอักเสบ
อาการที่เกิดอาจแตกต่างตามชนิดของภาวะประสาทอักเสบ
เส้นประสาทรับความรู้สึกเสื่อม (Sensory neuropathy)
ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้
- มีความรู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่และมีอาการชา
- มีความรู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มมาทิ่ม
- มีอาการปวดเพิ่มขึ้นหรือไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกปวดได้
- ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกที่เปลี่ยนจากร้อนเป็นเย็นหรือเปลี่ยนจากเย็นไปเป็นร้อนได
- สูญเสียทักษะการทำงานที่ต้องใช้การประสานงานรวมไปถึงระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกเคลื่อนไหว
- มีอาการปวดแสบปวดร้อน (burning) เจ็บแบบเสียดแทง เจ็บเหมือนมีอะไรมากรีด ปวดคล้ายมีอะไรมาทิ่มแทง หรือปวดแบบเจ็บเสียวแปลบร้าว ซึ่งอาการดังกล่าวนีจะแย่ลงตอนกลางคืน
โดยสามารถทำให้เกิดแผลที่เท้าและขา การติดเชื้อ รวมไปถึงการเกิดเนื้อตาย (gangrene) ตามมาได้
เส้นประสาทสั่งการเสื่อม (Motor neuropathy)
ภาวะนี้จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อ
โดยมีอาการดังต่อไปนี้ :
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในการเคลื่อนไหว เช่น มีปัญหาในการติดกระดุมเสื้อเชิ้ต
- กล้ามเนื้อฝ่อ
- กล้ามเนื้อกระตุกและเป็นตะคริว
- เป็นอัมพาต
ในกรณีที่เส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อม ผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาเหงื่อออกมาก ไม่สามารถทนอากาศร้อนได้ มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดอาการมึนศีรษะได้
สาเหตุปลายประสาทอักเสบ
ภาวะประสาทอักเสบหลายชนิดมักไม่ทราบสาเหตุของการเกิดแต่อาจมีสภาวะที่ไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้
โรคเบาหวานเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยซึ่งทำให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบชนิดเชื้อรัง โดยเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติจนมีผลไปทำลายเส้นประสาท
สภาวะของโรคและการบาดเจ็บอื่นๆที่ทำให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ มีดังนี้ :
- โรคไตเรื้อรัง : หากไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติโดยไม่สามารถควบคุมสมดุลของเกลือแร่และสารต่างๆในร่างกายได้จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ
- กระดูกหักหรือการใส่เฝือกที่แน่นมากเกินไปจนกดทับบริเวณเส้นประสาทโดยตรง
- การติดเชื้อ โรคงูสวัด การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคไลม์ (Lyme disease) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง หรือภาวะอื่นๆที่มีผลทำให้เส้นประสาทเสียหาย
- กลุ่มอาการ Guillain-Barré syndrome: เป็นภาวะปลายประสาทอักเสบชนิดหนึ่งซึ่งถูกกระตุ้นจากการติดเชื้อ
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองบางชนิด : โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรค SLE หรือ โรคลูปัส
นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ ดังนี้
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดและยาที่ใช้ในการรักษาโรค HIV
- การขาดวิตามิน B12 และโฟเลต (folate)
- การได้รับสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สารเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลาย
- มะเร็งบางชนิด รวมไปถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา (multiple myeloma)
- โรคตับเรื้อรัง
ความผิดปกติที่เกิดในหลอดเลือดขนาดเล็กทำให้มีเลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทไม่เพียงพอจนเป็นสาเหตุทำให้เนื้อเยื่อประสาทเสียหายและถูกทำลายในที่สุด
เนื้องอกของเส้นประสาท (Neuromas) การมีก้อนเนื้อที่เส้นประสาทจะมีผลต่อเนื้อเยื่อประสาทและทำให้เกิดอาการปวดประสาทได้
ภาวะประสาทอักเสบในโรคเบาหวาน
สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะปลายเส้นประสาทอักเสบคือการเป็นโรคเบาหวาน ประมาณร้อยละ 60 ถึง 70 ของผู้ป่วยเบาหวานมักจะพบอาการประสาทอักเสบ
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายผนังของหลอดเลือดฝอยซึ่งหลอดเลือดดังกล่าวนี้ทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณปลายมือและเท้า รวมไปถึงอวัยวะที่สำคัญในร่างกายอื่นๆ เช่น ตา ไต หัวใจ
จนในที่สุดผิวหนังจะเริ่มถูกทำลายจนไม่สามารถรับความรู้สึกได้และเกิดความเสียหายของเส้นประสาทตามมา
ภาวะประสาทอักเสบที่เกิดจากโรคเบาหวานนี้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเชื่อว่าจะมีภาวะประสาทอักเสบร่วมด้วย
วิธีรักษาปลายประสาทอักเสบโดยใช้ธรรมชาติบำบัด
การใช้ความร้อนและความเย็นประคบเพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น
การรักษาโดยไม่ใช้ยา ประกอบไปด้วยวิธีดังนี้
- การสวมใส่ผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิว เช่น ผ้าฝ้าย
- การใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดผิวบริเวณที่ไวต่อความรู้สึก
- ในกรณีที่โดนความร้อนหรือความเย็นแล้วอาการไม่ได้แย่ลงก็สามารถใช้แผ่นประคบเย็นหรือร้อนประคบได้
การคลายเครียดหรือการแพทย์ทางเลือก เช่น การนั่งสมาธิ เทคนิคผ่อนคลายความเครียด การนวด รวมไปถึงการฝังเข็มก็สามารถทำได้
ในผู้ป่วยบางรายอาจจะใช้เครื่อง transcutaneous electrical nerve stimulation (TENS) ซึ่งเป็นการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเพื่อลดอาการปวด โดยเครื่องมือชนิดนี้จะมีผลขัดขวางตัวส่งสัญญาณประสาทโดยการนำส่งกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดต่ำๆ แต่วิธีนี้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ให้การรับรองประสิทธิภาพของผลการรักษา
การรับประทานอาหารเสริมใดๆควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อน
ข้อเท็จจริงสั้นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะปลายประสาทอักเสบ
- ภาวะประสาทอักเสบมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากโรคประจำตัวที่แตกต่างกัน
- ภาวะนี้จะส่งผลต่อเส้นประสาทอัตโนมัติ เส้นประสาทสั่งการ รวมไปถึงเส้นประสาทที่รับความรู้สึก
- บางครั้งจะมีผลต่อเส้นประสาทเพียง 1 เส้นหรืออาจจะส่งผลต่อทั้งระบบประสาท เช่น ในโรคโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) ซึ่งเป็นผลจากเส้นประสาทบริเวณใบหน้า
- การบาดเจ็บทางร่างกาย การบาดเจ็บจากการใช้งานซ้ำๆที่เกิดจากการนั่งทำงานหรือนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ การติดเชื้อ ปัญหาเกี่ยวกับกระบาณการเผาพลาญพลังงานในร่างกาย การได้รับสารพิษหรือยาบางตัวที่อาจทำให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะประสาทอักเสบ
นี่คือที่มาของแหล่งบทความของเรา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/peripheral-neuropathy/symptoms-causes/syc-20352061
- https://www.nhs.uk/conditions/peripheral-neuropathy/
- https://www.webmd.com/brain/understanding-peripheral-neuropathy-basics#
- https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Fact-Sheets/Peripheral-Neuropathy-Fact-Sheet
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก