ช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) หรือหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วหลายปี อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงทุกวัยมีอาการช่องคลอดแห้ง
ช่องคลอดแห้งเกิดจากการมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพสหญิงที่ทำหน้าที่ให้เยื่อบุในช่องคลอดของผู้หญิงมีความหล่อลื่น กระชับ และมีความยืดหยุ่นลดลง
ช่องคลอดที่แห้งหรือขาดความชุ่มชื้นอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทำให้มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตคู่ของผู้ที่มีอาการดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้เจ็บและไม่สะดวกในขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ในปัจจุบันนี้ มีหลายวิธีที่สามารถบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งนี้ได้
สาเหตุของช่องคลอดแห้ง
ส่วนใหญ่อาการช่องคลอดแห้งจะเกี่ยวข้องการมีปริมาณของเอสโตรเจนที่น้อยลง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน
รังไข่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมพัฒนาการและลักษณะทางเพศของผู้หญิง เช่น เต้านม รูปร่าง รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมรอบประจำเดือนและการตั้งครรภ์ด้วย
โดยปกติเอสโตรเจนจะช่วยให้เนื้อเยื่อบุช่องคลอดมีสุขภาพดี อ่อนนุ่ม และชุ่มชื้น เมื่อปริมาณของเอสโตรเจนลดลง เยื่อบุช่องคลอดจะบางลง ความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นน้อยลง เปลี่ยนสีจากสีชมพูอ่อนๆ เป็นสีคล้ำลง เรียกการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ว่า ภาวะช่องคลอดแห้ง
นอกเหนือจากการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เช่น
-
การคลอดบุตร และการให้นมบุตร
-
การทำเคมีบำบัดและการฉายรังสี เพื่อการรักษามะเร็ง
-
ภาวะหมดประจำเดือนเนื่องจากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
-
ใช้ยาต้านเอสโตรเจนเพื่อการรักษามะเร็งเต้านม หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เช่น Lupron หรือ Zoladex
สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ช่องคลอดแห้ง มีดังนี้
-
โรคโจเกรน (Sjögren’s syndrome) หรือโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองชนิดเรื้อรัง คือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบของต่อมน้ำลายและต่อมน้ำตา ผู้หญิงที่มีอาการนี้อาจมีเนื้อเยื่อบุช่องคลอดอักเสบ ซึ่งจะมีผลทำให้ช่องคลอดแห้งได้เช่นกัน
-
ยาแก้แพ้ เช่น diphenhydramine ที่ใช้รักษาผู้ที่มีอาการหวัดและภูมิแพ้ ตัวยาเหล่านี้มีผลในการลดสารคัดหลั่ง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ช่องคลอดแห้งและปัสสาวะลำบาก
-
ยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิดมีผลข้างเคียงทางเพศ เช่น ทำให้ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง และถึงจุดสุดยอดได้ยากขึ้น
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีโอากาสเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนไวกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นผู้หญิงกลุ่มนี้จะมีอาการช่องคลอดแห้งไวกว่าผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน
มีอะไรเกิดขึ้นได้บ้างในวัยหมดประจำเดือน
ช่องคลอดแห้งมีความเกี่ยวข้องกับวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงพร้อมๆ กับการขาดหายไปของประจำเดือน ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงในระยะเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือนและหลังจากหมดประจำเดือน ต้องได้รับการรักษาอาการช่องคลอดแห้ง แต่คาดว่าโดยรวมแล้วจำนวนที่แท้จริงของผู้ที่มีอาการช่องคลอดแห้งนี้ น่าจะมีจำนวนใกล้เคียง 40-50 เปอร์เซ็นต์
ภาวะช่องคลอดแห้ง เป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บและไม่มีความสุขในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสของการติดเชื้อในช่องคลอดอีกด้วย
ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงมีผลต่อเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจบางลง ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นและติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เรียกอาการเหล่านี้ว่า โรคระบบทางเดินปัสสาวะของวัยหมดประจำเดือน หรือ GSM
ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะของโรค GSM อาจพบว่ามีเลือดออกมาจากช่องคลอด หรือมีอาการแสบร้อนหรือคันหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการเหล่านี้มีผลกระทบต่ออารมณ์ร่วมและความสุขทางเพศของผู้หญิง
อาการเหล่านี้ จะมีความแตกต่างกันไปในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และจะทวีความรุนแรงของอาการที่มีมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน
อาการช่องคลอดแห้ง
อาการอื่น ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่องคลอดฝ่อและช่องคลอดแห้ง ก็คือ อาการคัน แสบร้อน และระคายเคืองช่องคลอด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้การติดเชื้อในช่องคลอดเกิดขึ้นได้ง่าย
จากเหตุผลที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงในระยะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะส่งผลต่อการลดลงของปริมาณสารคัดหลั่งในช่องคลอดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง จะส่งผลให้ช่องคลอดหดตัวแคบลง สร้างความเจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของช่องคลอดนี้ เรียกว่า dyspareunia
ผู้หญิงในวัยเริ่มหมดประจำเดือน จะมีอาการดังต่อไปนี้
-
ร้อนวูบวาบ
-
มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
-
นอนไม่หลับ
-
เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
-
มีสิวขึ้น
-
ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
-
หลงๆ ลืมๆ
-
เวลามีเพศสัมพันธ์แล้วไม่มีน้ำหล่อลื่น
การวินิจฉัยช่องคลอดแห้ง
หากพบว่าสุขภาพของช่องคลอดเปลี่ยนไป โดยสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์
-
แสบร้อนบริเวณช่องคลอด
-
คันภายในช่องคลอด
-
ช่องคลอดแห้ง
-
เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
-
เกิดการระคายเคือง
แพทย์จะทำการตรวจอุ้งเชิงกราน และซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการของช่องคลอดที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนว่ามีอย่างไรบ้าง
การตรวจกระดูกเชิงกรานจะช่วยให้แพทย์ตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของผนังช่องคลอดและแจกแจงสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการข้างต้น เช่น เก็บตัวอย่างเซลล์ หรือตัวอย่างจากการตกขาวเพื่อนำไปตรวจสอบการภาวะติดเชื้อ
แพทย์จะทำการตรวจซ้ำหลายๆ ครั้งถึงสาเหตุของช่องคลอดฝ่อและช่องคลอดแห้งเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ซึ่งโดยทั่วไปมักทำโดยสังเกตอาการที่เกิดขึ้น
อาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างกระอักกระอ่วนใจหรือน่าอับอาย ที่จะพูดถึงรายละเอียดส่วนตัวในเรื่องเหล่านี้ให้คนอื่นได้รับรู้ แต่ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องอธิบาย เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถรักษาหรือควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้
การรักษาช่องคลอดแห้ง
การรักษาอาการช่องคลอดแห้งมีหลายทางเลือก แพทย์อาจให้ใบสั่งยาหรือผู้ป่วยสามารถซื้อยาได้ตามร้านยาทั่วไป
ครีมเอสโตรเจนเฉพาะที่
การรักษาอาการช่องคลอดแห้งที่เกิดจากปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ มักจะรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉพาะที่ ซึ่งหมายถึงการใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการที่บริเวณช่องคลอด
เมื่อเทียบกับการกินยาเม็ดแล้ววิธีนี้จะมีการดูดซึมเอสโตรเจนได้น้อยมาก จึงเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ
ตัวอย่างของการรักษาโดยการใช้เอสโตรเจนเฉพาะที่ มีดังนี้
-
แหวนใส่ช่องคลอด (Estring) วิธีนี้จะเป็นการสอดแหวนที่มีลักษณะยืดหยุ่นเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งแหวนที่สอดเข้าไปนี้จะปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนให้กับเนื้อเยื่อในช่องคลอดในปริมาณที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง และจะทำการเปลี่ยนแหวนในทุกๆ 90 วัน
-
ครีมทาช่องคลอด (Estrace, Premarin) การรักษาด้วยวิธีนี้ทำโดยการทาครีมเข้าไปในช่องคลอดโดยตรง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การทาครีมเอสโตรเจนเข้าไปในช่องคลอด เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้ได้ดีกับการฝ่อหรือความแห้งของช่องคลอด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการรักษาโดยใช้ยาหลอก
-
ยาเม็ดเหน็บช่องคลอด (Vagifem) การรักษาด้วยวิธี้นี้ทำโดยการสอดเม็ดยาเข้าไปในช่องคลอดโดยตรง
ยังไม่พบผลการวิจัยที่อ้างถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้เอสโตรเจนเฉพาะที่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งถือว่าการรักษาด้วยวิธีนี้มีความปลอดภัยสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทนแบบดั้งเดิม
ผู้หญิงที่มีประวัติการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉพาะที่ เพื่อความปลอดภัย ซึ่งหากไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ก็ยังมีทางเลือกในการรักษาแบบอื่น
ซื้อยารักษาตามร้านขายยาทั่วไป
สามารถหาซื้อยาที่ช่วยรักษาอาการช่องคลอดแห้งได้ตามร้านขายยาทั่วไป
อาจใช้สารช่วยหล่อลื่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและเจ็บน้อยลงในขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรเลือกใช้สารช่วยหล่อลื่นสูตรน้ำมากกว่าที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้ถุงยางอนามัยแตกได้
การใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ในช่องคลอดสามารถทำได้ทุกวัน หรือวันเว้นวัน ทั้งนี้เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นตามธรรมชาติของช่องคลอด ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทางออนไลน์
การรักษาด้วยตัวเอง
การแก้ไขอาการช่องคลอดแห้งทำได้ได้หลายวิธี เปลี่ยนแปลงไปตามการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น
การมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
การมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำและการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องช่องคลอดแห้งได้
เมื่อผู้หญิงถูกกระตุ้นให้มีอารมณ์ทางเพศ เลือดจะไหลเวียนไปยังเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ช่องคลอดสร้างความชุ่มชื้นขึ้นด้วย
การเล้าโลมและการปลุกเร้าให้เพียงพอก่อนการร่วมเพศ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องช่องคลอดแห้งได้ และยังช่วยทำให้มีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นด้วย
ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายและสุขอนามัย
มีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคลหลายชนิด ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสี ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือทำให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดแห้ง
ในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียที่ดี ที่ทำหน้าที่ปรับสมดุลและทำให้ช่องคลอดทำความสะอาดตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องสวนล้างช่องคลอดหรือใช้สบู่ล้างภายในช่องคลอด เพราะเป็นบริเวณที่บอบบาง
ทานอาหารที่มีไฟโตเอสโทรเจน
ไฟโตเอสโทรเจนเป็นสารประกอบที่ทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย พบได้จากพืช ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่ว เมล็ดพืช และเต้าหู้
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ไฟโตเอสโตรเจนมีส่วนช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งและอาการร้อนวูบวาบได้
ชุดชั้นใน
ชุดชั้นในที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์จะทำให้แนบเนื้อเกินไป สร้างความระคายเคืองในช่องคลอดมากขึ้น และอาจจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท จึงควรเลือกชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย ซึ่งช่วยถ่ายเทอากาศได้ดีกว่า และช่วยให้ช่องคลอดระบายอากาศได้ดี
ข้อสรุป
ภาวะช่องคลอดแห้งเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและภายหลังหมดประจำเดือน แม้ว่าช่องคลอดแห้งจะไม่สร้างผลกระทบด้านสุขภาพที่สำคัญ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายได้
การรักษาทำได้ด้วยการใช้ครีมเอสโตรเจนทาเฉพาะที่ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีความเสี่ยงต่ำ หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป รวมถึงการใช้สารที่ให้ความชุ่มชื้นในช่องคลอด และสารหล่อลื่นที่ใช้ในขณะมีเพศสัมพันธ์
นี่คือแหล่งที่มาของบทความของเรา
-
https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-dryness-causes-moisturizing-treatments
-
https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-dryness/basics/definition/sym-20151520
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก