แขนหักคืออะไร
อาการแขนหัก (Broken arm) คือการที่กระดูกแขนหักอย่างน้อย1 ใน 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกแขนท่อนใน (ulna) กระดูกปลายแขนด้านหัวแม่มือ (radius) และกระดูกต้นแขน (humerus) หนึ่งในสาเหตุของแขนหักที่พบบ่อยที่สุด คือการล้มแล้วเหยียดแขนออกไปค้ำลำตัว หากคุณคิดว่าคุณหรือลูกของคุณแขนหักให้รีบไปพบแพทย์ทันที สิ่งสำคัญคือเพื่อให้ผู้ที่มีอาการแขนหักได้รับการรักษาเหมาะสมโดยเร็วที่สุด
อาการแขนหัก
สัญญาณแรกที่จะทำให้ทราบว่ากระดูกแขนหักคือได้ยินเสียงดังหรือเสียงกระดูกแตก หลังจากนั้นจะมีอาการดังนี้:
-
อาการปวดอย่างรุนแรงและปวดมากขึ้นเมื่อขยับแขน
-
บวม
-
ช้ำ
-
แขนผิดรูป เช่น งอขึ้น หรืองอลง
-
ขยับฝ่ามือขึ้นหรือลงไม่ได้
สาเหตุของอาการแขนหัก
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้แขนหัก มีดังนี้ :
-
การหกล้ม การหกล้มแล้วเหยียดแขนหรือข้อศอกออกไปค้ำตัวเองไว้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แขนหัก
-
แขนหักจากการเล่นกีฬา การที่ได้รับแรงกระแทกโดยตรงที่แขนเช่นการเล่นกีฬาในสนามหรือในคอร์ท มักจะทำให้กระดูกหักได้เสมอ
-
ได้รับบาดเจ็บ แขนหักสามารถเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยาน รวมถึงการถูกทำร้ายโดยตรงที่แขน
-
การทำร้ายเด็ก บางครั้งการที่เด็กแขนหักอาจเกิดขึ้นจากการถูกทำร้ายร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงของการแขนหัก
สภาวะทางร่างกายหรือการทำกิจกรรมบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่จะทำให้แขนหักได้ เช่น
กีฬาบางประเภท
การเล่นกีฬาประเภทที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสทางกายภาพหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการล้ม เช่น ฟุตบอล ยิมนาสติก สกี และสเก็ตบอร์ด ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อแขนหัก
ความผิดปกติของกระดูก
ภาวะที่ทำให้กระดูกอ่อนแอ เช่น โรคกระดูกพรุน และเนื้องอกในกระดูก จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแขนหัก กระดูกที่หักประเภทนี้ เรียกว่าการหักทางพยาธิวิทยา (pathological fracture)
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่
หากมีอาการเจ็บที่แขนมากจนกระทั่งไม่สามารถใช้แขนได้ตามปกติ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่แขนหัก เนื่องจากกระดูกของเด็กจะมีการรักษาซ่อมแซมตัวเองได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ถ้าทำการรักษาช้าเกินไปจะทำให้การรักษาหรือกระดูกกลับมาเข้ารูปเหมือนเดิมเป็นได้ยากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อน
อาการแขนหักสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ หากทำการรักษาโดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น
-
การเจริญเติบโตของกระดูกไม่เต็มที่ เนื่องจากกระดูกแขนของเด็กยังคงเติบโต ถ้ากระดูกหักในบริเวณที่มีการเจริญเติบโตหรือเกิดขึ้นใกล้กับปลายแต่ละด้านของกระดูกยาว อาจรบกวนการเติบโตของกระดูกส่วนนั้นได้
-
โรคข้อเสื่อม หากกระดูกที่ต่อเชื่อมกับข้อต่อหัก อาจทำให้เกิดโรคข้ออักเสบได้ในอีกหลายปีต่อมา
-
ภาวะข้อฝืดในการขยับ การตรึงกระดูกไว้เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในช่วงเวลาที่กำลังรักษากระดูกต้นแขนหักในบางครั้ง อาจส่งผลให้ข้อศอกหรือไหล่เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัดและลำบาก รวมถึงทำเกิดความเจ็บปวดขึ้นด้วย
-
การติดเชื้อในกระดูก หากมีส่วนหนึ่งของกระดูกที่หักยื่นออกมาทางผิวหนังอาจสัมผัสกับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ การเกิดแขนหักในกรณีนี้ต้องทำการรักษาโดยทันที
-
การบาดเจ็บของเส้นประสาทหรือหลอดเลือด หากกระดูกต้นแขนหักออกเป็น 2 ท่อน หรือมากกว่านั้น ส่วนปลายของกระดูกที่แตกอาจมีผลทำให้เส้นประสาทและหลอดเลือดใกล้เคียงเสียหายได้ หากคุณมีอาการชาหรือมีปัญหาการไหลเวียนของเลือดควรไปพบแพทย์ทันที
-
ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง การบวมมากเกินไปของแขนที่ได้รับบาดเจ็บทำให้เกิดการขัดขวางการลำเลียงเลือดที่เข้าไปหล่อเลี้ยงแขนส่วนนั้น ทำให้เกิดอาการปวดและชาได้ ซึ่งอาการนี้มักเกิดขึ้นภายใน 24 – 48 ชั่วโมงหลังได้รับบาดเจ็บ สำหรับกลุ่มอาการภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
การป้องกัน
แม้การเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถป้องกันได้ตลอดเวลา แต่มีเคล็ดลับที่อาจช่วยป้องกันกระดูกหักได้ เช่น
-
การทานอาหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพซึ่งรวมถึงอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม เช่น นม โยเกิร์ต ชีส และวิตามินดี ซึ่งช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม วิตามินดีจะได้จากปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาแซลมอน หรือจากอาหารเสริม เช่น นมและน้ำส้ม และจากแสงแดด
-
การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกระดูก กิจกรรมที่รับน้ำหนัก และการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความสมดุลในการทรงตัว สามารถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและลดโอกาสของกระดูกหักได้ ในผู้สูงอายุที่มีความแข็งแรง กระฉับกระเฉง จะมีโอกาสที่ล้มและกระดูกหักน้อยลง
-
ป้องกันการหกล้ม การสวมรองเท้าที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการหกล้ม นำสิ่งที่อาจเป็นอันตรายที่อาจทำให้หกล้ม เช่น ข้าวของรกรุงรังออกไปจากบ้าน ติดตั้งโคมไฟในพื้นที่ใช้สอยเพื่อเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ และราวบันได เป็นต้น
-
ใช้อุปกรณ์ป้องกัน สวมอุปกรณ์ป้องกันข้อมือเมื่อทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่นการเล่นอินไลน์สเก็ต สโนว์บอร์ด รักบี้ และฟุตบอล
-
งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้มวลกระดูกลดลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของแขนหักได้ นอกจากนี้ยังขัดขวางการรักษากระดูกหักด้วย
การรักษาอาการแขนหัก
การรักษาแขนหักขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของการบาดเจ็บ หากกระดูกแตกหรือเดาะเพียงเล็กน้อยอาจได้รับการรักษาด้วยการเข้าเฝือกแขนแบบสะพายหรือประคบน้ำแข็งและพักผ่อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจได้รับการจัดกระดูกใหม่ขณะที่รักษาเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน
สำหรับแขนหักที่กระดูกได้รับความเสียหายมากอาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อปรับแนวกระดูกใหม่และเย็บด้วยลวดเทียม รวมถึงเสริมแผ่นเหล็กโดยยึดด้วยตะปูหรือสกรูเพื่อทำให้กระดูกเข้าที่ระหว่างการรักษา
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก