รอยฟกช้ำ (Bruise) เกิดจากหลอดเลือดฝอยแตกใต้ผิวหนังและได้รับความเสียหาย ทำให้เลือดกระจายอยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อเวลาผ่านไปรอยฟกช้ำนั้นจะมีสีเปลี่ยนไปคล้ายสีเลือด กระจายอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณที่ฟกช้ำ โดยสีจะเปลี่ยนไปตามระยะที่รักษา
โดยทั่วไปรอยฟกช้ำจะเกิดขึ้นเมื่อเราได้รับบาดเจ็บที่บริเวณผิวหนัง เช่น การหกล้ม หรือการชนกับอะไรบางอย่าง
เมื่อหลอดเลือดระหว่างผิวหนังกับเนื้อเยื่อในร่างกายฉีกขาด ทำให้เลือดไหลออกมาคั่งที่บริเวณดังกล่าว เกิดเป็นรอยช้ำซึ่งปกติแล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนสีจางลงตามระยะเวลาที่รักษาตัวเอง
เมื่อไหร่จึงควรกังวลกับรอยช้ำที่เกิดขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว รอยฟกช้ำที่ผิวหนังไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลมากนัก ส่วนใหญ่การบาดเจ็บนี้สามารถรักษาได้เองที่บ้าน และไม่จะเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล
แต่ในบางกรณี รอยช้ำที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้ต้องไปพบแทพย์
ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย คือการเกิดภาวะห้อเลือด การห้อเลือด คือ การที่มีเลือดคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บที่หนักกว่าการเกิดรอยฟกช้ำธรรมดา
หากเกิดภาวะห้อเลือด ร่างกายของเราจะไม่สามารถที่ทำการเยียวยาตัวเองได้เร็วเหมือนกับการได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ดังนั้น หากเกิดภาวะห้อเลือดขึ้น จะทำให้รู้สึกเจ็บ และแสดงอาการของผิวห้อเลือดในบริเวณนั้นอยู่นาน แม้ว่าจะผ่านไปหลายวันแล้วก็ตาม
หากมีภาวะห้อเลือดเกิดขึ้น อาจมีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ตำแหน่งที่เกิดอาการ ขนาด และสาเหตุที่ทำให้เกิดการห้อเลือด จะเป็นตัวกำหนดว่าจะทำการรักษาอาการห้อเลือดได้อย่างไร
สัญญาณเตือนบางอย่างที่ ทำให้ผู้ที่ได้รับรอยช้ำต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา มีดังนี้
-
มีอาการชาที่แขนหรือขา
-
ทำให้ข้อต่อ แขน ขา หรือกล้ามเนื้อมีปัญหา หรือไม่ทำงาน
-
รอยช้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
-
มีรอยช้ำใหม่เกิดขึ้นในจุดเดิมและไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์
-
เกิดขึ้นพร้อมกับอาการกระดูกหัก
-
เกิดขึ้นที่บริเวณศีรษะหรือคอ
-
ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
-
เกิดขึ้นที่บริเวณหน้าท้อง ศีรษะ หรือลำตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอวัยวะภายในกำลังมีปัญหา
อาการและสีของรอยช้ำ
เราสามารถใช้สีของรอยช้ำประเมินได้ว่ารอยช้ำนั้นเกิดขึ้นมานานแค่ไหนเนื่องจากร่างกายของเราจะพยายามรักษาตัวเองเมื่อได้รับความเสียหาย ขณะที่ร่างกายรักษาตัวเองจะเกิดกระบวนการสลายฮีโมโกลบินขึ้น ทำให้บริเวณนั้นมีสีแดงและรอยช้ำนี้จะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดจากขบวนการเยียวยาตัวเองของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม สีผิวก็มีผลต่อสีของรอยช้ำที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยคนที่มีโทนสีผิวปานกลางเมื่อเกิดรอยช้ำขึ้น รอยช้ำนั้นมักจะมีสีออกแดงและเหลือง ส่วนผู้ที่มีผิวสีเข้ม ก็จะมีสีของรอยช้ำที่เข้มตามไปด้วย
ในระหว่างที่รอยช้ำกำลังมีการรักษาตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วสีของรอยช้ำจะเปลี่ยนไป ดังนี้:
-
เมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ รอยช้ำจะมีสีแดง เนื่องจากมีออกซิเจนและเลือดที่ออกใหม่จำนวนมากคั่งอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณนั้น
-
ประมาณ 1-2 วันหลังจากนั้น เลือดบริเวณนั้นจะขาดออกซิเจนทำให้สีของเลือดเปลี่ยนไปจากเดิม โดยสีของรอยช้ำจะเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีน้ำเงิน สีม่วง และสีดำภายในเวลาไม่กี่วัน
-
ประมาณ 5-10 วัน รอยช้ำจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และสีเขียว ซึ่งสีดังกล่าวนี้เกิดจากสารประกอบบิลิเวอร์ดิน (biliverdin) และบิลิรูบิน ( bilirubin) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเมื่อเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
-
หลังจาก 10-14 วัน สีของรอยช้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเหลือง หรือสีน้ำตาลอ่อน
สุดท้ายแล้วรอยช้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและเริ่มจางลง โดยปกติอยช้ำจะหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องทำการรักษา
วิธีการรักษารอยช้ำให้หายเร็วขึ้น
เราอาจมีความต้องการให้รอยช้ำหรืออาการเจ็บปวดที่มาพร้อมกับรอยช้ำหายไปโดยเร็ว ซึ่งมีวิธีช่วยได้หลายวิธีที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน ดังนี้
ประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็ง
หนึ่งในขั้นตอนเบื้องต้นของการรักษารอยฟกช้ำ คือ การประคบด้วยน้ำแข็งบนบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เราอาจใช้น้ำแข็งหรือวัตถุที่ได้แช่แข็งไว้ในตู้เย็นนำมาวางบนจุดที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น แพ็คของผักที่แช่ไว้ในตู้เย็น เป็นต้น
ทำการห่อวัตถุดังกล่าวด้วยผ้าขนหนูหรือเสื้อผ้าแล้วนำไปประคบในจุดที่ได้รับบาดเจ็บ อย่าให้ผิวหนังสัมผัสกับน้ำแข็งหรือวัตถุที่เย็นนั้นโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น
การประคบเย็นบนจุดที่ได้รับบาดเจ็บหรือในบริเวณที่เกิดรอยช้ำที่เพิ่งเกิดขึ้น จะช่วยลดการไหลเวียนของเลือดและลดอาการบวมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งจะสามารถลดขนาดของรอยช้ำได้ ซึ่งนอกจากจะมีการป้องกันการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บแล้วก็ยังลดอาการอักเสบได้อีกด้วย
การรักษาโดยใช้ครีม
หลายคนใช้ครีมอาร์นิกา เควอซิติน วิตามินบี 3 หรือวิตามินเค เพื่อช่วยให้รอยช้ำจางหายไปเร็วขึ้น
เราสามารถใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น อะเซตามิโนเฟน (ไทลินอล) และยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อื่นๆ เพื่อลดปวดจากการอักเสบที่บริเวณรอยช้ำ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเนื่องจากอาจทำให้มีเลือดออกมากขึ้น
อาจมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง NSAIDs เมื่อเกิดรอยฟกช้ำขึ้นหลังการผ่าตัด หรือเมื่อมีรอยฟกช้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากยาเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เลือดออกหรือไหลเวียนสะดวกขึ้น ผู้ที่มีรอยช้ำที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อความแน่ใจว่าสามารถใช้ยาเหล่านี้กับรอยช้ำที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
พันบริเวณรอยช้ำไว้
ใช้ยางยืดนุ่มๆ ที่ไม่รัดมากเกินไปพันรอบบริเวณรอยช้ำไว้ในช่วงที่ตื่นนอนใหม่ๆ ประมาณ 1-2 วัน หลังจากได้รับบาดเจ็บ จะช่วยลดอาการฟกช้ำและความรู้สึกไม่สบายลงได้
การรัดด้วยผ้ายืดนั้น จะพันให้แน่นแต่ไม่แน่นจนเกินไป หากมีอาการชาหรือเสียวซ่า ในขณะที่รัดอยู่ ควรคลายยางรัดให้หลวมหรือหยุดรัด
ยกบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้น
การยกบริเวณที่ฟกช้ำให้สูงขึ้นจะมีผลลัพธ์เหมือนกับการประคบเย็น เนื่องจากสามารถป้องกันไม่ให้รอยช้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น เราควรยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงแต่ควรให้รู้สึกสบายด้วย
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์ หากมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น
-
สงสัยว่าจะมีกระดูกหัก
-
กล้ามเนื้อหรือข้อต่อแขนขาผิดปกติ หรือใช้การไม่ได้
-
มีอาการปวดมากขึ้น
-
บริเวณที่เคยฟกช้ำกลับมาช้ำอีก
-
เกิดรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
-
รอยช้ำไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์
-
รอยฟกช้ำรบกวนการมองเห็น
ผู้ที่กินยาป้องกันเลือดเป็นลิ่ม เช่น warfarin (Coumadin) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากเคยได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม
แพทย์สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ป่วยมีสภาวะหรือสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นทำให้อาการฟกช้ำรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้มีอาการอาจไม่รู้ตัวว่าตนอยู่ในสภาวะนั้น
ในบางกรณีซึ่งพบไม่บ่อยนัก รอยฟกช้ำสามารถเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่ากำลังมีภาวะที่ร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น
-
มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคฮีโมฟีเลีย
-
มะเร็งบางชนิด
-
ตับกำลังมีปัญหา
บทสรุปจากรอยช้ำ
ร่องรอยการฟกช้ำจะมีการเปลี่ยนสีผิวไปหลายสีในขณะที่ร่างกายกำลังเยียวยาอาการบาดเจ็บให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รอยช้ำจะเปลี่ยนสีเมื่อเวลาผ่านไป เราสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้เลยว่า สีของรอยช้ำจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ประมาณ 4 ขั้นตอนก่อนจะจางหายไป
หากรอยช้ำไม่จางลง แต่กลับมีอาการมากขึ้น หรือมีปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากรอยฟกช้ำส่วนใหญ่ควรหายไปได้เองภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด
นี่คือแหล่งที่มาของบทความของเรา
-
https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/bruises-article
-
https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-bruise/basics/art-20056663
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก