ปวดเส้นประสาท Neuropathic pain คือ ความเสียหายหรือการบาดเจ็บที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือระบบประสาทส่วนปลายอาจทำให้เกิดอาการปวดเส้นประสาท
บางคนอาจมีอาการปวดแปลบๆ เรื้อรังตามร่างกายหรือมีความรู้สึกแสบร้อน ในขณะที่บางคนอาจมีอาการชาและรู้สึกเสียวซ่า
การบาดเจ็บหรือโรคภัย สามารถทำลายเส้นใยประสาทที่รับ-ส่งสัญญาณความเจ็บปวดจากส่วนต่างๆของร่างกายได้
ความเสียหายของเส้นประสาทสามารถบิดเบือนสัญญาณที่มีอยู่เดิม สร้างสัญญาณใหม่หรือป้องกันไม่ให้ถ่ายโอนสัญญาณได้ตามปกติ นอกจากนี้บางครั้งอาจเปลี่ยนสัญญาณที่ไม่ใช่ความเจ็บปวดทำให้รู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาได้ ปัญหาเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ซึ่งอาการมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
ความเสียหายต่อระบบประสาทส่งผลต่อความรู้สึก ดังนั้นคนเราอาจมีการเปลี่ยนแปลงในการรับสัมผัส เช่น อุณหภูมิ การเคลื่อนไหว และแรงกดดัน
สาเหตุอาการปวดเส้นประสาท
สภาวะสุขภาพต่างๆอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาท ซึ่งนำไปสู่อาการปวดเส้นประสาท ยกตัวอย่างเช่น
- เบาหวาน
- มะเร็ง และการรักษามะเร็ง เช่น เคมีบำบัด
- ภาวะทางระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis )
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease )
- หลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคงูสวัด (Shingles )
- ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( HIV )
- โรคเรื้อน (Leprosy )
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- โรคความผิดปกติของหลอดเลือด
- ภาวะแพ้ภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune conditions)
การบาดเจ็บอาจสร้างความเสียหายให้เนื้อเยื่อและเส้นประสาท โดยการกดเส้นประสาทมากเกินไป อาจพบภาวะนี้ได้ระหว่างการผ่าตัดหรืออาจเป็นผลมาจากอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
การติดเชื้อบางอย่าง เช่น งูสวัด บางครั้งอาจทำลายเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดเส้นประสาท
การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคระบบประสาทได้ ซึ่งเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ก่อให้เกิดการขาดสารอาหารที่มาเลี้ยงเส้นประสาทและความเสียหายที่เป็นพิษโดยตรงต่อเส้นประสาท
บางครั้งยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการปวดตามเส้นประสาทได้
อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนของอาการปวดตามเส้นประสาท
ประเภทปวดเส้นประสาท
โรคปวดเส้นประสาทมีหลายประเภทและแต่ละประเภทมีผลต่อเส้นประสาทและส่วนต่างๆของร่างกายที่ต่างกัน
ความเสียหายต่อเส้นประสาทเส้นเดียวเรียกว่า mononeuropathy ในขณะที่ความเสียหายต่อเส้นประสาทสองเส้นหรือมากกว่าในบริเวณต่างๆของร่างกายเรียกว่า Multiple mononeuropathy
ในกรณีส่วนใหญ่มีความเสียหายต่อเส้นประสาทจำนวนมากซึ่งเรียกว่า polyneuropathy
หัวข้อด้านล่างนี้จะกล่าวถึงโรคระบบประสาทประเภทต่างๆและอธิบายว่าส่วนใดของร่างกายที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ
โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy)
เป็นความเสียหายของเส้นประสาทชนิดหนึ่งที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ระบบประสาทส่วนปลายมีการรับ-ส่งกระแสประสาทไปยังระบบประสาทส่วนกลาง และส่วนต่างๆของร่างกาย
โรคปลายประสาทอักเสบอาจส่งผลต่อส่วนปลายของร่างกายรวมทั้ง
- เท้า
- ขา
- แขน
- มือ
โรคระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic neuropathy )
ระบบประสาทอัตโนมัติมีผลต่อเส้นประสาทที่ควบคุมอวัยวะภายในและควบคุมการทำงานที่จำเป็น เช่น การหายใจและการย่อยอาหาร
โรคระบบประสาทอัตโนมัติอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆที่อาจส่งผลต่อ หัวใจ ความดันโลหิต และระบบย่อยอาหาร
โรคเส้นประสาทอักเสบ (Focal neuropathy)
มักมีความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลไปยังเส้นประสาทเส้นเดียวภายในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกายต่อไปนี้:
- ศีรษะ
- มือ
- ลำตัว
- ขา
เส้นประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ (Bell’s palsy) เป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ภาวะนี้ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างกะทันหันหรือเป็นผื่นแดงที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า
โรคเส้นประสาทอักเสบยังสามารถทำให้เกิดการมองเห็นภาพซ้อนและกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเจ็บปวดที่ด้านหน้าของต้นขาหรือบริเวณอื่นๆของร่างกาย
โรคปลายประสาทอักเสบส่วนต้น (Proximal neuropathy)
เส้นประสาทอักเสบที่หายาก คือ โรคเส้นประสาทอักเสบส่วนต้น ความเสียหายของเส้นประสาทประเภทนี้มักเกิดขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายและอาจส่งผลต่อสะโพก ก้นกบ หรือต้นขา
โรคเส้นประสาทอักเสบส่วนต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและเคลื่อนไหวลำบาก รวมทั้งน้ำหนัก และมวลกล้ามเนื้อลดลง
โรคปลายประสาทอักเสบจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy)
โรคเบาหวานทำให้น้ำตาลในเลือดสูงในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งนี้สามารถทำลายหลอดเลือดที่ส่งออกซิเจนและสารอาหารที่สำคัญไปยังเส้นประสาทได้
การลดลงของออกซิเจนและสารอาหารทำให้เส้นประสาททำงานผิดปกติ
โรคปลายประสาทอักเสบจากเบาหวานอาจรวมถึงโรคปลายประสาทอักเสบข้างต้น แต่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีโรคระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม
เส้นประสาทอักเสบจากการกดทับ (Compression mononeuropathy)
หมายถึงความเสียหายจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทเส้นเดียวหรือจากการกดทับ การหดตัวของหลอดเลือดสามารถลดการไหลเวียนของเลือดไปยังเส้นประสาทซึ่งส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทได้
การบาดเจ็บหรือการอักเสบซ้ำๆ อาจทำให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทที่สามารถส่งผ่านความรู้สึกไปยังข้อต่อหรือต้นขาเข้าสู่ทั่วร่างกายได้
เส้นประสาทอักเสบจากการกดทับที่ข้อมือ ( Carpal tunnel syndrome ) ซึ่งหมายถึงการที่เส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ เป็นตัวอย่างที่พบบ่อยที่สุด
เส้นประสาทอักเสบจากการกดทับที่ข้อมืออาจรู้สึกเสียวซ่า ชา หรือบวมที่นิ้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้มือหรือนอนหลับตอนกลางคืน
อาการปวดหลอน (Phantom limb syndrome)
อาการปวดหลอนเป็นอาการปวดเส้นประสาทชนิดหนึ่ง อาจรู้สึกผิดปกติหรือเจ็บปวดในส่วนของแขนหรือขาที่หายไปแล้ว ความเจ็บปวดอาจแสบร้อนทิ่มแทงหรือเหมือนถูกยิง
เกือบร้อยละ 80 ของผู้ที่ได้รับการตัดแขนขาจะมีอาการปวดหลอน สัญญาณผสมระหว่างสมองและไขสันหลังอาจเป็นสาเหตุของอาการ
อาการมักจะลดลงใน 6 เดือนหลังการผ่าตัด แต่สามารถมีอาการต่อไปได้เป็นปี
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia)
การถูกกดทับของเส้นประสาทหรือความเสียหายของเส้นประสาทใบหน้าคู่ที่ 5 อาจทำให้เกิดโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า โรคหลอดเลือด โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และการผ่าตัดดึงใบหน้า ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทใบหน้าคู่ที่ 5
โรคปวดเส้นประสาทประเภทนี้อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรงที่ใบหน้า กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การแปรงฟัน และการล้างหน้า อาจทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้
อาการปวดหลังเป็นงูสวัด ( Postherpetic neuralgia )
เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด อาจส่งผลต่อบริเวณต่างๆของร่างกายที่มีผื่นงูสวัด
ประมาณ ร้อยละ 10–18 ของผู้ที่เป็นโรคงูสวัดจะมีอาการและผู้สูงอายุที่เป็นโรคงูสวัดมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้น
โรคปวดเส้นประสาทจากการกดทับของกระดูกสันหลังช่วงทรวงอก และช่วงเอว (Thoracic or lumbar radiculopathy)
การกดทับเส้นประสาทของกระดูกสันหลังส่วนทรวงอก (Thoracic ) หรือ เอว (lumbar ) เป็นชนิดของเส้นประสาทอักเสบแบบเส้นเดียว (mononeuropathy ) ที่มีผลต่อหน้าอกหรือผนังหน้าท้องข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคระบบประสาทชนิดนี้ พวกเขามักจะฟื้นตัวตามกาลเวลา
อาการปวดเส้นประสาท
บางอย่างของอาการปวดตามเส้นประสาทอาจรวมถึง
- อาการปวดอย่างรุนแรง ซึ่งอาจรู้สึกเหมือนถูกกระแทก สั่นสะเทือน หรือแสบร้อน
- ความรู้สึกเหมือนไฟฟ้าดูด
- ชา
- รู้สึกเสียวซ่าหรือถูกเข็มทิ่ม
- ความรู้สึกในการรับรู้ลดลง เช่น ความรู้สึกในการรับรู้อุณหภูมิ
- ผิวหนังเป็นจุดๆ หรือสีแดง
- คัน
- การเปลี่ยนแปลงของความเจ็บปวดที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
อาการปวดตามระบบประสาทอาจทำให้คนมีความไวต่อการสัมผัสมากขึ้น ตัวอย่างเช่น คนอาจพบว่าแรงกดหรือการเสียดสีจากเสื้อผ้าที่นุ่มนวล ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้
อาการปวดเรื้อรังอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันและส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ผลข้างเคียงบางประการของอาการปวดเส้นประสาทอาจรวมถึง:
การรักษาปวดเส้นประสาท
อาการของโรคปวดเส้นประสาทหรือเส้นประสาทอักเสบบางอย่างจะบรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป การรักษาหรือการจัดการสาเหตุของอาการปวด อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทได้
ผู้ที่มีอาการปวดเส้นประสาทเรื้อรังอาจต้องได้รับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือลดอาการที่อาจจะตามมา
การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs) มักไม่ได้ผลในการบรรเทาอาการปวดเส้นประสาท
ยาอื่นๆที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาท ได้แก่
- ยากันชัก
- ยาต้านอาการซึมเศร้า
- กัญชา
- เจลพริก (capsaicin cream)
- แผ่นยาชาเฉพาะที่ (lidocaine patch)
- การฉีดยาชาเข้าเส้นประสาท การฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือการฉีดยาเตียรอยด์เฉพาะที่
แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นเส้นประสาททางผิวหนัง (transcutaneous electrical nerve stimulation หรือ TENS) เครื่องนี้จะส่งแรงกระตุ้นไฟฟ้าขนาดเล็กไปยังบริเวณที่ปวด ผ่านอิเล็กโทรดที่ติดอยู่กับผิวหนัง
แรงกระตุ้นอาจกระตุ้นเส้นประสาทที่เฉพาะเจาะจง และปิดกั้นสัญญาณความเจ็บปวด วิธีนี้สามารถช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
หากเครื่องใช้ไม่ได้ผล อาจมีคนอยากลองการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าทางผิวหนังในแบบ Percutaneous electrical nerve stimulation (PENS) PENS ทำงานในลักษณะเดียวกันกับ TENS แต่ผู้เชี่ยวชาญจะใช้เข็มเพื่อวางอิเล็กโทรดไว้ใต้ผิวหนังแทนที่จะใช้ด้านบนผิวหนัง
บางคนพบว่าการฝังเข็ม ช่วยบรรเทาอาการปวดตามระบบประสาทได้บ้าง วิธีนี้อาจช่วยกระตุ้นระบบประสาทและกระตุ้นการตอบสนองในการบรรเทาความเจ็บปวด
การผ่าตัดยังสามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของการปวดเส้นประสาทบางประเภทได้ เช่น เส้นประสาทอักเสบจากการกดทับ
สรุป
ความเสียหายหรือการบาดเจ็บที่เส้นประสาทอาจทำให้เกิดอาการปวดตามระบบประสาท อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
ผู้ป่วยอาจมีอาการแสบร้อนหรือปวด รู้สึกเสียวซ่า ชา หรือสูญเสียความรู้สึกบางอย่าง
ทางเลือกในการรักษา ได้แก่ การให้ยาบรรเทาอาการปวด การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือในบางกรณีอาจต้องผ่าตัด
อาการปวดตามเส้นประสาทบางประเภท อาจบรรเทาลงหรือหายไปเมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่ประเภทอื่นๆจะต้องมีการจัดการความเจ็บปวดในระยะยาว
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
- https://www.webmd.com/pain-management/guide/neuropathic-pain
- https://www.healthline.com/health/neuropathic-pain
- https://www.brainandspine.org.uk/information-and-support/living-with-a-neurological-problem/neuropathic-pain/
- https://www.nhs.uk/conditions/peripheral-neuropathy/treatment/
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก