ตาเหล่ (Strabismus) คือ ภาวะอย่างหนึ่งของตาที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ตาข้างหนึ่งโฟกัสที่จุดหนึ่ง แต่ตาอีกข้างกลับมองเข้าด้านใน มองขึ้น มองลง หรือมองออกนอก สามารถเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือว่าตลอดเวลา
สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ ส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของตา เปลือกตา และ กล้ามเนื้อตาทำงานไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลให้ตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองไปที่จุดเดียวกันในเวลาเดียวกันได้ เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติในสมองทำให้ดวงตาไม่สามารถประสานกันได้อย่างถูกต้อง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของการมองเห็น
จากสถิติของการตรวจสำรวจหาภาวะตาเหล่ในประเทศไทย ปี 2563 พบว่า ความน่าจะเป็นของการเกิดตาเหล่ในระดับความเสี่ยงสูง (high risk) ประมาณ ร้อยละ 1.7 โดยความชุกของตาเหล่ อยู่ที่ 15% (ความชุกของโรค คือ จำนวนผู้ป่วยในประชากรหนึ่งๆ หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด ค่านี้ใช้ประมาณว่าโรคนี้เกิดบ่อยมากเพียงใดในประชากร)
สาเหตุของการตาเหล่
ตาเหล่สามารถเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- ตั้งแต่กำเนิด
- กรรมพันธุ์
- การเจ็บป่วย
- รอยโรคที่เส้นประสาทสมอง
- สายตาสั้น (Myopia)
- สายตายาว (Hypermetropia)
- สายตาเอียง (Astigmatism)
- ภาวะสายตาผิดปกติ (Refraction error) คือ ตาไม่สามารถโฟกัสแสง เมื่อแสงผ่านเลนส์ตาได้ ปัญหาเกี่ยวกับสายตาผิดปกติมีแนวโน้มที่จะทำให้ดวงตาที่หันเข้าด้านในเพื่อพยายามปรับจุดโฟกัสของตาให้ดีขึ้น อาการตาเหล่ที่เป็นผลมาจากสายตาที่ผิดปกติ สามารถกิดขึ้นในภายหลังกำเนิดได้ โดยปกติจะเกิดในเด็กที่มีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป
- ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus) สามารถทำให้เกิดตาเหล่ได้ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง คือ ภาวะที่น้ำหล่อเลี้ยงสมอง และไขสันหลังที่สร้างขึ้นในสมองและรอบ ๆ สมองมากเกินไป
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิดเช่น โรคหัด (Measles) อาจทำให้เกิดตาเหล่ได้
- นอกจากนี้อาการของโรคอื่น ได้แก่ กลุ่มอาการนูแนน (Noonan syndrome)
- เงื่อนไขอื่นๆทางพันธุกรรม
สัญญาณและอาการตาเหล่ในเด็ก
สัญญาณของตาเหล่จะเห็นชัดเจนตั้งแต่อายุยังน้อย ตาข้างหนึ่งไม่สามารถมองตรงไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าตาเหล่เล็กน้อยอาจจะสังเกตได้ยากกว่า ทารกและทารกแรกเกิดอาจมีลักษณะของตาเหล่ ถ้าหากพวกเขาเหนื่อย แต่ไม่ได้บ่งบอกว่าพวกเขาจะตาเหล่ ผู้ปกครองสามารถไปพบแพทย์ได้เพื่อปรึกษาอาการ ถ้าหากเขากำลังมองคุณอยู่ แล้วตาของเด็กปิดข้างหนึ่ง นี่คือสัญณาณของการเห็นภาพซ้อน (Double vision) หรือ ตาเหล่ ทางที่ดีควรพบแพทย์ โดยอาการตาเหล่มักเกิดตั้งแต่แรกเกิดหรือเกิดขึ้นใน 6 เดือนแรกหลังคลอด
ประเภทของตาเหล่
ตาเหล่นั้นมีหลายประเภท เช่น ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) สามารถอธิบายสาเหตุหรือทิศการมองของตาได้
ตาเหล่เนื่องจากตำแหน่งของตา
- ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia)
- ตาเหล่ลงล่าง (Hypotropia)
- ตาเหล่เข้าด้านใน (Esotropia)
- ตาเหล่ออกนอก (Exotropia)
การวินิจฉัยตาเหล่ในระยะเริ่มต้นจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อก่อนเชื่อว่าหลังจาก“ ระยะวิกฤต ” ไปแล้วจะไม่สามารถรักษาตาเหล่ได้ ปัจจุบันเชื่อว่าการรักษาตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นแล้วตาเหล่สามารถรักษาได้ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม
ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia)
ตาเหล่สามารถนำไปสู่การเห็นภาพซ้อนได้ (Double vision) หากกลับมาเป็นอีกครั้งในวัยผู้ใหญ่ การไม่รักษาอาจนำไปสู่การเกิด amblyopia หรือ “ตาขี้เกียจ” ซึ่งสมองจะเริ่มเพิกเฉยและไม่สนใจต่อข้อมูลจากดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการมองเห็นภาพซ้อน หากการมองเห็นแย่ลง การปิดตาอีกข้างอาจมีประโยชน์ เนื่องจากสามารถกระตุ้นการมองเห็นได้ บางครั้งตาเหล่สามารถรักษาได้ในเด็กแล้วจะกลับมาเป็นอีกครั้งตอนโต ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเห็นภาพซ้อนในตอนโต เนื่องจาก เมื่อถึงเวลานั้นสมองได้รับการฝึกฝนให้รวบรวมข้อมูลจากดวงตาทั้งสองข้างดังนั้นจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อดวงตาทั้งสองข้างได้
การวินิจฉัยและการรักษา
เด็กและทารกควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำ โดยสมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์อเมริกา (The American Optometric Association) แนะนำว่าควรเริ่มตรวจตั้งแต่ 9 เดือน หรือเร็วกว่านั้นหากเด็กมีอาการถ้าหากมีสัญญาณของตาเหล่เกิดขึ้น แพทย์หรือช่างแว่นตาจะแนะนำให้พาเด็กไปพบจักษุแพทย์ จักษุแพทย์อาจใช้ยาหยอดตาเพื่อขยายรูม่านตาก่อนทำการทดสอบ Hirschberg
การทดสอบ Hirschberg การตรวจรีเฟลกซ์กระจกตาโดยฉายไฟ (Corneal Light Reflex) ใช้เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีอาการตาเหล่หรือไม่ โดยจักษุแพทย์จะส่องไฟเข้าตาและสังเกตว่าแสงสะท้อนจากกระจกตาได้หรือไม่ ถ้าตาชิดกันแสงที่ส่องลงไปจะไปที่กึ่งกลางของกระจกตาทั้งสองข้าง หากแสงไม่ไปที่กึ่งกลางของกระจกตาแสดงว่าผู้ป่วยมีอาการตาเหล่ออกนอก ขึ้นบน เข้าด้านใน หรือ ลงล่าง แต่บางคนอาจเป็นมากกว่าหนึ่งแบบในเวลาเดียวกันได้
การรักษาตาเหล่
การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคตาขี้เกียจ ยิ่งผู้ป่วยอายุน้อยการรักษาก็น่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การรักษาประกอบด้วย
- แว่นตา: หากสาเหตุเกิดจากสายตายาวสามารถแก้ไขโดยใช้แว่นตาได้
- ผ้าปิดตา: จะปิดตาข้างที่ไม่มีอาการเพื่อแก้ปัญหาการทำงานของตาอีกข้าง
- โบท็อก (Botox) : จะฉีดโบท็อกเข้าไปในกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆของดวงตาโบท็อกจะทำให้กล้ามเนื้อที่ฉีดเข้าไปอ่อนแอลงชั่วคราวและจะช่วยให้ดวงตาจัดตำแหน่งได้อย่างเหมาะสม แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีนี้ หากไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดตาเหล่ที่แท้จริงได้ หรือเมื่อเกิดอาการอย่างกะทันหัน
- การผ่าตัดจะใช้เฉพาะในกรณีที่การรักษาอื่นไม่ได้ผลเท่านั้น ซึ่งจะสามารถปรับสภาพดวงตาและฟื้นฟูการมองเห็นทั้งสองตาได้ ศัลยแพทย์จะย้ายกล้ามเนื้อที่เชื่อมกับตาไปยังตำแหน่งใหม่บางครั้งต้องผ่าตัดตาทั้งสองข้างเพื่อให้เกิดความสมดุลกัน
- การหยอดตา และ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
การฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
การฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาสำหรับคนที่มีอาการตาเหล่คือ home-based pencil pushups (HBPP)
วิธีการ HBPP สามารถทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ถือดินสอให้อยู่ในตำแหน่งประมาณกึ่งกลางระหว่างดวงตาโดยเหยียดแขนสุดแขน
- มองไปที่ดินสอ ในขณะเดียวกันค่อย ๆ เลื่อนดินสอเข้าเข้ามาใกล้ ๆ จมูกและพยายามเพ่งตามองดินสอรวมให้เป็นภาพเดียวกัน
- เลื่อนดินสอเข้ามาใกล้ๆจมูกจนกว่าคุณจะเห็นเป็นภาพเดียว
- ถือดินสอในจุดที่ใกล้ที่สุดที่จะเป็นไปได้
- หากคุณไม่สามารถมองรวมเป็นภาพเดียวได้ให้เริ่มใหม่อีกครั้ง
จากการศึกษาผู้ป่วยที่ทำ “push-ups” 20 ครั้ง จำนวน 2 รอบ นาน 12 สัปดาห์ ชี้ให้เห็นว่าการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตานั้นสามารถ “ เป็นการบำบัดที่ง่ายไม่เสียค่าใช้จ่ายและมีประสิทธิภาพ” นอกจากนี้ยังมีการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาที่บ้านแบบอื่น ๆ เช่น การแกว่งตัวในกระจก
แหล่งที่มาของบทความ
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15065-strabismus-crossed-eyes
- https://www.healthline.com/health/eye-health/strabismus-exercises
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก