คำนิยามทางการแพทย์ สำหรับเลือดกำเดาไหล (Nosebleed) คือ Epistaxis เนื่องจากตำแหน่งจมูกของเราอยู่บริเวณกึ่งกลางใบหน้าพอดี และที่ตำแหน่งนี้มีหลอดเลือดมารวมกันอยู่อย่างหนาแน่น ดังนั้น คนทั่วไปจึงมีโอกาสจะมีเลือดกำเดาไหลอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิต
เลือดกำเดาไหลบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่กรณีแบบนี้พบได้น้อยมาก
เลือดกำเดาไหล ส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บภายในโพรงจมูก บางครั้งอาจเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดในจมูก การติดเชื้อในจมูกหรือไซนัส รวมถึงการสูดอากาศแห้ง (อากาศที่มีความชื้นต่ำ) เป็นเวลานานๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน
การเกิดเนื้องอกในจมูกและความผิดปกติของหลอดเลือดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือดกำเดาไหล แต่ในกรณีแบบนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
เลือดกำเดาไหลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองได้ตามปกติ (ในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น) โดยเฉพาะในเด็ก เมื่อเยื่อเมือกในจมูกแห้งหรือฉีกขาด และถูกรบกวนซ้ำจากการแคะจมูก ยิ่งทำให้ง่ายต่อการเกิดภาวะเลือดกำเดาไหล
เนื่องจากจมูกเป็นจุดที่เต็มไปด้วยหลอดเลือดมากมาย การบาดเจ็บที่ใบหน้าเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เลือดกำเดาไหลมากได้
เลือดกำเดาไหลยังสามารถพบได้บ่อยในผู้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาลดความอ้วน ยาแอสไพริน เป็นต้น และยังพบเห็นได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากเลือดของผู้สูงอายุจะใช้เวลาในการแข็งตัวนานกว่าคนในวัยอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วยจะทำให้การห้ามเลือดเป็นเรื่องยากขึ้น บางครั้งอาจต้องใช้เวลามากกว่า 20 นาทีจึงสามารถหยุดการไหลของเลือดกำเดาได้
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลือดกำเดาไหล
ประเด็นสำคัญบางประการเกี่ยวกับเลือดกำเดาไหลมีดังนี้ : รายละเอียดและข้อมูลสนับสนุนแสดงอยู่ในบทความหลัก
- เลือดกำเดาไหล ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวล
- ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนส่วนใหญ่จะมีเลือดกำเดาไหลอย่างน้อย 1 ครั้ง
- เลือดกำเดาไหล มี 2 ชนิดคือ Anterior nosebleeds (เลือดไหลออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก เป็นกรณีที่พบเห็นได้ประมาณ 90% ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ที่มีประวัติการแคะจมูกหรือเยื่อจมูกอักเสบ) และ Posterior nosebleeds (เลือดไหลออกมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงกว่าชนิดแรก มักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย)
- สภาพอากาศและระดับความสูงของพื้นที่ เป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหลได้
- การใช้ยาบางชนิด มีผลให้เลือดกำเดาไหลนานขึ้น
สาเหตุเลือดกำเดาไหล
เลือดกำเดาไหลสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1.Anterior nosebleeds เลือดกำเดาประเภทนี้ เลือดจะออกมาจากช่องระหว่างผนังทั้งสองข้างของรูจมูก ส่วนนี้ของจมูกประกอบด้วยหลอดเลือดที่บอบบางจำนวนมาก Anterior nosebleeds สามารถรักษาเองที่บ้านได้โดยง่าย ส่วนมากพบในเด็ก
2.Posterior nosebleeds เลือดกำเดาประเภทนี้ เลือดจะไหลออกมาแล้วไหลย้อนกลับขึ้นไปสู่บริเวณหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปที่จมูก นี่คือสาเหตุที่เลือดออกมากกว่า และร้ายแรงกว่าประเภทที่ 1 และการรักษาต้องกระทำโดยแพทย์ เลือดกำเดาประเภทนี้จะพบได้ในผู้ใหญ่
สาเหตุของเลือดกำเดาไหลประเภท anterior nosebleeds
บางครั้งเลือดกำเดาไหลประเภทนี้ก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม เลือดกำเดาประเภทนี้มักจะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้:
- การแคะจมูก หากมีเล็บยาวและแคะจมูกบ่อย หรือเยื่อภายในรูจมูกมีการฉีกขาดหรือเคยบาดเจ็บมาก่อน จะทำให้เลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้น
- จมูกโดนกระแทกหรือการสั่งน้ำมูก อาจทำให้หลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก เป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหลได้
- การเป็นไข้ ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้ทางจมูก มีโอกาสที่เลือดกำเดาจะไหลได้จากหลายสาเหตุ เนื่องจากผู้ที่มีอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสั่งน้ำมูกบ่อยทำให้เกิดการระคายเคืองภายในจมูกและไวต่อการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เลือดไหลได้ง่ายขึ้น
- สภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง หรือการเปลี่ยนแปลงของอากาศจากเย็นมาเป็นร้อน ซึ่งสภาพอากาศที่แห้งจะทำให้เนื้อเยื่อในโพรงจมูกแห้งและแตก นำไปสู่การมีเลือดกำเดาไหล
- ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ในพื้นที่ที่มีความสูงมากอากาศจะเบาบางและแห้งลงเรื่อยๆ ความแห้งของสภาพอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลได้
- การใช้ยาบางชนิดมากเกินไป เช่น ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด (blood thinners) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen. เป็นต้น
- โรคตับ สามารถรบกวนการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้เลือดกำเดาไหลบ่อยและอยู่ในระดับที่รุนแรง
- เสพยาเสพติดมากเกินไป เช่น โคเคน
สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหล ประเภท Posterior nosebleed
- ความดันโลหิตสูง
- มีการทำศัลยกรรมจมูกมาก่อน
- ขาดแคลเซียม
- สูดดมสารระคายเคืองต่อเยื่อเมือกในโพรงจมูก
- เป็นโรคเกี่ยวกับเลือด เช่น ฮีโมฟีเลีย (hemophilia) หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia)
- เนื้องอกในจมูก
สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เลือดกำเดาไหล
จมูกหัก – กระดูกหรือกระดูกอ่อนของจมูกร้าวหรือแตก
มีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก – เช่น เลโก้ เป็นต้น ซึ่งพบบ่อยในเด็ก
เกล็ดเลือดต่ำ – ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดเลือดกำเดาไหล
โรค Osler-Weber-Rendu ซึ่งพบน้อยมาก จะพบเพียง 1 ใน 5,000 คน เท่านั้น เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม มีผลทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ
การขาดปัจจัย X (Stuart-Prower factor deficiency) – เป็นสภาวะที่เป็นผลมาจากการขาดโปรตีน
การแข็งตัวของหลอดเลือด – การตีบของหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) แต่กำเนิด
อาการเลือดกำเดาไหล
อาการหลักๆ ของเลือดกำเดาไหลคือ การมีเลือดออกจากจมูก ซึ่งอาการจะมีตั้งแต่เบาจนไปถึงหนัก เลือดกำเดาจะไหลออกมาจากรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะไหลออกมาเพียงข้างเดียว
หากเลือดกำเดาไหลในขณะที่นอนอยู่ จะรู้สึกว่ามีเลือดคั่งอยู่บริเวณคอค่อนไปทางด้านหลังก่อนที่เลือดจะไหลออกมาจากจมูก หากไม่จำเป็นอย่าพยายามกลืนเลือด เพราะจะทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ทันที
สิ่งที่ควรระวังหากมีเลือดกำเดาไหล มีดังนี้:
- มีเลือดไหลอย่างรุนแรง
- ใจสั่น (หัวใจเต้นผิดปกติ)
- กลืนเลือดจำนวนมาก ทำให้คลื่นไส้อาเจียรได้
- หายใจถี่และหอบ
- ตัวซีด
การดูแลรักษาที่บ้าน
ขั้นตอนแรกสุดคือการห้ามเลือด หรือทำให้เลือดหยุดไหล
- นั่งลงบีบปลายจมูกไว้ไม่ให้เลือดออก หายใจทางปาก
- โน้มตัวไปข้างหน้า อย่าเงยหน้า เพราะจะทำให้เลือดไหลย้อนไปในจมูกหรือลำคอ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสำลักเลือดได้
- นั่งตัวตรงให้ระดับศีรษะสูงกว่าหัวใจ เพื่อลดแรงดันโลหิตจะทำให้เลือดไหลออกจากจมูกช้าลง
- บีบปลายจมูกต่อไป นั่งตัวตรงโน้มตัวไปข้างหน้า ประมาณ 5 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล ถ้าหากทำตามวิธีดังกล่าวนี้เกิน 20 นาทีแล้ว เลือดยังไม่หยุดไหล ควรไปพบแพทย์
- ใช้น้ำแข็งประคบที่จมูกและแก้มเพื่อบรรเทาอาการและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงในช่วง 2-3 วันหลังจากนั้น
หากมีปัญหาเลือดกำเดาไหลบ่อย ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยถึงปัญหาที่อาจจะตามมา
การรักษาเลือดกำเดาไหล
หากแพทย์สงสัยว่าสาเหตุพื้นฐานเกิดจาก ความดันโลหิดสูง โลหิตจาง หรือมีการแตกหักในโพรงจมูก อาจทำการตรวจเพิ่ม เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจวัดชีพจร หรือการ X-ray ก่อนให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาได้หลายวิธี ดังนี้:
การแพคจมูก (Nasal packing) – วิธีการคือแพทย์จะใส่ผ้าก๊อชหรือฟองน้ำชนิดพิเศษเข้าไปในรูจมูกให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ไปกดห้ามเลือดในตำแหน่งที่เลือดไหลออกมา
การจี้ด้วยไฟฟ้า (Cautery) – เป็นการทำให้เกิดแผลไหม้เล็กน้อยในบริเวณที่เลือดไหล เพื่อเป็นการปิดทางไหลออกของเลือด ซึ่งจะสามารถทำได้เมื่อแพทย์รู้ตำแหน่งของหลอดเลือดที่เลือดไหลออกมาจริงๆ อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจทำให้บริเวณรอบๆ จุดที่ถูกจี้เกิดมีเลือดไหลออกมาแทนจุดเดิมได้
การผ่าตัดผนังกั้นช่องจมูก (Septal surgery) – การผ่าตัดจะทำให้ผนังที่คดอยู่ตรงขึ้น (ผนังระหว่างช่องจมูกทั้งสองข้าง) ซึ่งการที่ผนังกั้นช่องจมูกคดอาจมีมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากอุบัติเหตุภายหลัง ซึ่งการผ่าตัดนี้จะช่วยลดจำนวนครั้งของเลือดกำเดาไหลได้
การมัดหลอดเลือด (Ligation) – เป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์เลือกใช้ โดยการผ่าตัดเพื่อจะทำการผูกปลายหลอดเลือดที่เป็นต้นเหตุของเลือดที่ไหลออกมา
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการแคะจมูก
- ทาครีมหล่อลื่น เช่น วาสลีน ในรูจมูก โดยเฉพาะในเด็กที่มักมีเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือสั่งน้ำมูกบ่อยเกินไป
- ใช้เครื่องทำความชื้นบนที่สูงหรือในที่อากาศแห้ง
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากๆ ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากเลือดกำเดาไหล เพื่อป้องกันการเกิดเลือดกำเดาไหลซ้ำอีก
นี่คือที่มาในแหล่งบทความของเรา
- https://www.healthline.com/health/nosebleed
- https://www.webmd.com/first-aid/nosebleeds-causes-and-treatments#1
- https://www.nhs.uk/conditions/nosebleed/
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/13464-nosebleed-epistaxis
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก