ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia) คือ ภาวะที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพราะคุณต้องปัสสาวะ สาเหตุมีหลายสาเหตุตั้งแต่การดื่มของเหลวในปริมาณมากเกินไป ความผิดปกติในขณะนอนหลับ และปัญหาการอุดตันของกระเพาะปัสสาวะ การรักษาภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน คือการจัดกิจวัตรประจำวันที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เหมาะสม เช่น การ จำกัดปริมาณของเหลวที่ดื่มก่อนนอน และการรักษาด้วยยาเพื่อลดความไวของกระเพาะปัสสาวะที่มากเกินไป
สาเหตุของปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนเกิดจากสาเหตุได้หลายประการสามารถวินิจฉัยได้จากชนิด และประเภทของปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ได้แก่ :
-
ปัสสาวะมากผิดปกติ
-
การมีปริมาณปัสสาวะ เฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
-
ปัสสาวะถี่มากในตอนกลางคืน
ปัสสาวะมากผิดปกติ คืออาการผู้ป่วยปัสสาวะปริมาณผิดปกติ หรือ > 3,000 มล. ในเวลา 24 ชั่วโมง เกิดขึ้นเมื่อไตกรองน้ำมากเกินไป หรือเกิดขึ้นเมื่อมีสารในปัสสาวะเข้มข้นจนร่างกายต้องขับปริมาณน้ำส่วนเกินมากขึ้น เช่น น้ำตาล (กลูโคส)
สาเหตุของปัสสาวะมากผิดปกติอาจรวมถึง:
-
ปริมาณของเหลวมากผิดปกติ
-
โรคเบาหวาน ที่ผู้ป่วยยังไม่ได้รับการรักษา (ประเภท 1 และประเภท 2)
-
โรคเบาจืด (Insipidus) โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การมีปริมาณปัสสาวะ เฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีปริมาณปัสสาวะสูงเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น โดยปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วยในระหว่างวันจะปกติหรืออาจลดลง เกิดจากการคั่งค้างของของเหลวในระหว่างวัน โดยมากจะสะสมที่เท้าหรือขา เมื่อผู้ป่วยนอนราบลงไป แรงโน้มถ่วงจะทำให้ของเหลวที่กักเก็บไว้ที่เท้าและขาถูกปลดปล่อยออกมา ของเหลวจะถูกนำเข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วยอีกครั้งและถูกกรองโดยไตจึงทำให้ต้องขับออกมาเป็นปัสสาวะ
สาเหตุของการมีปริมาณปัสสาวะ เฉพาะในช่วงเวลากลางคืนอาจรวมถึง:
-
อาการบวมน้ำที่ขา (บวมที่ขา)
-
ความผิดปกติในขณะนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากลมหายใจถูกอุดกั้น (การหายใจถูกขัดจังหวะ หรือหยุดหลายครั้งระหว่างการนอนหลับ)
-
ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อย่างยาขับปัสสาวะ (ยาขับน้ำ), คาร์ดิแอกไกลโคไซด์, เดเมโคลไซคลีน, ลิเธียม, เมทอกซีฟลูเรน, ฟีนิโทอิน, พร็อกซีฟีน และวิตามินดีมากเกินไป
-
การดื่มของเหลวมากเกินไปก่อนนอน โดยเฉพาะกาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์
-
การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง
ปัสสาวะถี่มากในตอนกลางคืน คือภาวะที่ผู้ป่วยมีความถี่ในการปัสสาวะตอนกลางคืนมากผิดปกติ โดยปริมาณปัสสาวะในแต่ละครั้งอาจมีเพียงเล็กน้อย หรือถี่มากขึ้น ปริมาณปัสสาวะทั้งหมดจะมีปริมาณไม่มาก เกิดจากกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ (เป็นสาเหตุที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มเร็วขึ้น) หรือไม่สามารถกักเก็บปัสสาวะไว้ในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างสมบูรณ์ (ปริมาณกระเพาะปัสสาวะน้อย) อาการนี้อาจเกิดจากการนอนหลับยาก หรือไม่สนิท ทำให้รู้สึกตัวตื่นได้ง่าย และเมื่อตื่นมาแล้วก็มักจะรู้สึกปวดปัสสาวะได้
สาเหตุของปัสสาวะถี่มากในตอนกลางคืน ได้แก่ :
-
กระเพาะปัสสาวะอุดตัน
-
โรคต่อมลูกหมากโตที่ไม่เป็นอันตราย (ผู้ชาย) การโตของต่อมลูกหมากที่ไม่ได้เกิดจากมะเร็งจะขัดขวางการไหลของปัสสาวะ
สาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถใช้งานกระเพาะปัสสาวะได้อย่างเต็มที่ ได้แก่ :
-
กระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไป (ภาวะปัสสาวะเล็ด)
-
การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
-
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (บวม)
-
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer)
-
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)
อาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนเป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยต้องลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อปัสสาวะ หรือกล่าวคือต้องปัสสาวะถี่ขึ้นในตอนกลางคืน – ปัสสาวะบ่อยขึ้นในตอนกลางคืน เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นและเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง แต่สาเหตุของอาการในผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่จะตื่นขึ้นมาสักครั้งเพื่อปัสสาวะในตอนกลางคืน แต่การปัสสาวะที่บ่อยกว่านั้นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาร่างกายที่เกิดขึ้น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนอาจสามารถสัมพันธ์กับความถี่ในการปัสสาวะตอนกลางวันหรือไม่ก็ได้ สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยอาการคือการแยกแยะระหว่าง ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (ปัสสาวะบ่อยเกินไป) กับ ปัสสาวะมาก (ปัสสาวะมีปริมาณมากผิดปกติ)
โดยปกติมนุษย์จะนอนหลับได้นาน 6 – 8 ชั่วโมงในตอนกลางคืนโดยไม่ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำ แต่ผู้ที่มีอาการ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนจะตื่นขึ้นมามากกว่า 1 ครั้งต่อคืนเพื่อปัสสาวะ สิ่งนี้อาจทำให้วงจรการนอนหลับผิดปกติได้
อาการของปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนรวมถึง:
-
ตื่นขึ้นมามากกว่า 1 ครั้งต่อคืนเพื่อปัสสาวะ
-
ปัสสาวะแต่ละครั้งมีปริมาณมากขึ้น (ถ้ามีอาการปัสสาวะมากผิดปกติ)
-
อ่อนเพลีย ง่วงนอน – การตื่นนอนบ่อย ๆ เพื่อปัสสาวะบ่อยอาจขัดขวางการพักผ่อนที่เพียงพอของผู้ป่วย
การรักษาภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
การรักษาอาการนี้ต้องจัดการที่สาเหตุของอาการ เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้งดดื่มเครื่องดื่ม ก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยก็ต้องบริโภคน้ำในปริมาณที่เพียงพอสำหรับร่างกายในแต่ละวันด้วย
กรณีที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ทุเลาลง แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหรือรักษารูปแบบอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้รักษามีหลายชนิด โดยแพทย์จะใช้ยาตามสาเหตุและอาการเป็นหลัก เพื่อช่วยลดการปัสสาวะตอนกลางคืน กรณีผู้ป่วยเกิดอาการเนื่องจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด แพทย์อาจให้หยุดยาชนิดนั้น ๆ ก่อนจนกว่าอาการจะทุเลา
ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนได้
-
ยาแอนตี้โคลิเนอร์จิก ใช้บรรเทาอาการที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป
-
ยาเดสโมเพรสซิน ช่วยลดอัตราการผลิตปัสสาวะของไตในตอนกลางคืน
-
ยาแทมซูโลซิน ยาฟิแนสเทอไรด์ หรือยาดูทาสเตอไรด์ ใช้รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต
-
ยาปฏิชีวนะ ใช้รักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า มีการนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ควบคุมการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กไว้ใกล้ ๆ บริเวณก้นกบ โดยสัญญาณไฟฟ้าจะใช้กระตุ้นการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
การรักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่กการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่สามารถทำให้อาการหายขาดได้ แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด ขึ้นกับอาการและสาเหตุของภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนด้วย
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
-
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14510-nocturia
-
https://www.healthline.com/health/urination-excessive-at-night
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก