หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis) คือ การอักเสบของหลอดอาหารซึ่งเป็นหลอดกล้ามเนื้อที่ส่งผ่านอาหารและเครื่องดื่มจากปากไปยังกระเพาะอาหาร อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อหลอดอาหารได้
หลอดอาหารอักเสบที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้มีผลต่อโครงสร้างและการทำงานของหลอดอาหาร
การรักษาหลอดอาหารอักเสบมักมุ่งไปที่การจัดการกับสาเหตุการอักเสบและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารบางชนิด หรือ สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ในบางรายอาจรักษาด้วยการให้ยาแก้อักเสบ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างทันรวดเร็วจะทำให้อาการหลอดอาหารอักเสบมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
สาเหตุของโรคหลอดอาหารอักเสบ
ภาวะการณ์ของหลอดอาหารอักเสบ อาจมีสาเหตุจากปัจจัยมากกว่า 1 อย่าง ซึ่งรวมถึง
กรดไหลย้อน
หลอดอาหารอักเสบที่พบมากที่สุด เรียกว่า หลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน ที่ปลายด้านล่างของหลอดอาหารมีวาล์วที่ทำหน้าที่กั้นกรดในกระเพาะอาหารไม่ให้ไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ซึ่งเรียกว่ากล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหาร
หากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ คือมันไม่ปิดและเปิดอย่างที่ควรจะเป็น จะทำให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร (กรดไหลย้อน) ได้ โรคกรดไหลย้อนนี้อาจทำให้หลอดอาหารเกิดการระคายเคืองและนำไปสู่โรคหลอดอาหารอักเสบ
โรคภูมิแพ้
อาการของโรคภูมิแพ้บางอย่างอาจทำให้เกิดโรคหลอดอาหารอักเสบจากเม็ดเลือดขาว อีโอสิโนฟิล ที่เรียกว่า eosinophilic esophagitis ซึ่งเกิดจากอาการแพ้ Eosinophils เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เมื่อมีอาการแพ้หรือการติดเชื้อจำนวนของ eosinophils ในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดการอักเสบ
ยาชนิดต่างๆ
ยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุของหลอดอาหารอักเสบ เรียกว่า หลอดอาหารอักเสบที่เกิดจากการใช้ยา การกลืนกินยาเม็ดที่มีขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหลอดอาหารได้ ซึ่งเมื่อยานั้นสัมผัสกับเยื่อบุหลอดอาหารเป็นเวลานานเกินไปอาจทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหารได้
เมื่อองกินยาเม็ด ควรดื่มน้ำตามากๆ เนื่องจากหากดื่มน้ำน้อยอาจมีเม็ดยาหรือแคปซูลของยาตกค้างอยู่ในหลอดอาหาร ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดขึ้นได้เมื่อกินยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยารักษาภาวะขาดโพแทสเซียม และยาบางชนิดที่ใช้สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน
ภาวะติดเชื้อ
โรคหลอดอาหารอักเสบจากการติดเชื้อ สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อรา เช่น เชื้อแคนดิดา หรือการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม หรือ cytomegalovirus ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถระบุสาเหตุของการติดเชื้อได้ด้วยการส่องกล้อง
สาเหตุอื่นๆ
สาเหตุอื่น ๆ ของโรคหลอดอาหารอักเสบ ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรักษาด้วยรังสี การใส่สายยางเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทางรูจมูก และการบาดเจ็บทางเคมีจากสารละลายด่างหรือกรด การบาดเจ็บจากสารเคมีซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากกลืนสารละลายที่เป็นกรดหรือด่าง หรือเด็กดื่มน้ำยาทำความสะอาด หรือหากผู้ใหญ่กลืนสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนในระหว่างการพยายามฆ่าตัวตาย
อาการของโรคหลอดอาหารอักเสบ
อาการต่อไปนี้คือสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับหลอดอาหารอักเสบ
- ปวดท้อง
- กลืนอาหารยาก และรู้สึกเจ็บปวดในขณะที่กลืนอาหาร
- อาหารติดอยู่ในหลอดอาหาร
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ไอ
- เจ็บปวดในอกขณะที่กินอาหาร แสบร้อนในอก
- เป็นแผลในปาก
อาการต่างๆ ที่พบในเด็กหรือทารก ได้แก่ ป้อนอาหารยาก เด็กมีการเจริญเติบโตช้า หรือมีปัญหาน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในวัยนี้ส่วนใหญ่ยังเด็กเกินไปที่จะอธิบายอาการของตนเองแก่แพทย์ได้
การรักษาหลอดอาหารอักเสบ
การให้การรักษาหลอดอาหารอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรค
โรคกรดไหลย้อน (GERD)
-
ยาต่างๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกรด รวมทั้ง H2-blockers และ proton pump inhibitors: เป็นยาที่มีผลในการลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหารได้อย่างยาวนาน
-
การรักษากรดไหลย้อนโดยการผ่าตัด ทำโดยการพันรอบกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระเพาะอาหาร เพื่อเสริมความแข็งแรงและป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร
โรคภูมิแพ้
-
คอร์ติโคสเตียรอยด์: เป็นยาที่ใช้กินเพื่อช่วยลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ ส่งผลให้มีการอักเสบในหลอดอาหารน้อยลง ทำให้สามารถรักษาโรคนี้ได้
-
ยาสเตียรอยด์ชนิดสูด ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืด ยาชนิดนี้สามารถช่วยลดอาการของโรคหลอดอาหารอักเสบจากเม็ดเลือดขาวอีโอสิโนฟิลได้
-
ยากลุ่ม Proton pump inhibitors ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดอาหารอักเสบที่เกิดจากโรคภูมิแพ้และมีกรดไหลย้อนร่วมด้วยอาจมีผลการรักษาที่ดีเมื่อกำหนดให้ใช้ยาในกลุ่มนี้
-
การแพ้อาหาร การรักษาได้ง่าย ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ โดยแพทย์จะส่งต่อผู้ป่วยไปปยังนักโภชนาการผู้มีความชำนาญ หรือทดสอบการเป็นผู้มีภาวะภูมิแพ้หากไม่แน่ชัดว่าว่าเกี่ยวข้องกับอาหารชนิดใด
-
หลอดอาหารอักเสบเนื่องจากการใช้ยาบางชนิด ในกรณีนี้แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่นทดแทน หรือเปลี่ยนวิธีการให้ยา เช่น เปลี่ยนจากยาชนิดเม็ดเป็นยาชนิดน้ำ
-
หลอดอาหารอักเสบจากการติดเชื้อ แพทย์อาจจะให้ยาเฉพาะทางเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคว่าเป็นไวรัส เชื้อรา ปรสิต หรือแบคทีเรีย
-
หลอดอาหารตีบที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ขั้นตอนในการขยายหลอดอาหาร
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ จะเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคหลอดอาหารอักเสบเนื่องจากกรดไหลย้อน
-
มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
-
เป็นโรคไส้เลื่อนกระบังลม
-
ตั้งครรภ์
-
สูบบุหรี่
-
มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดในปริมาณมากเป็นประจำ เช่น อาหารที่ปรุงจากมะเขือเทศ ผลไม้รสเปรี้ยวช็อกโกแลต กระเทียม หัวหอม อาหารรสเผ็ด แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
-
โรคภูมิแพ้
-
ยาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องกลืนยาเม็ดใหญ่ๆ
-
นอนราบทันทีหลังการกินอาหาร
-
กินยาเมื่อนอนราบ หรือกินยาก่อนเข้านอน
-
การติดเชื้อเนื่องจากการมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดอาหารอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อได้
การวินิจฉัยโรค
หลังจากซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการและทำการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจสั่งการตรวจด้วยวิธีพิเศษเหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย
Barium X-ray เป็นการตรวจดูความผิดปกติของหลอดอาหาร โดยให้ผู้ป่วยดื่มสารทึบรังสี (Barium Sulphate) พร้อมกับการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ของหลอดอาหาร ซึ่งจะเห็นหลอดอาหารชัดเจนมากขึ้น ทำให้แพทย์เสามารถตรวจสอบการตีบหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในหลอดอาหารได้
การส่องกล้อง ทำโดยใช้้องที่มีลักษณะเป็นท่อบางๆ ขนาดเล็กสอดลงไปในลอคอของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์สามารถเห็นหลอดอาหารหรือนำตัวอย่างชิ้นเนื้อขนาดเล็กๆ ออกมา แล้วสามารถระบุได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของการอักเสบ
ตัวอย่างเนื้อเยื่อ อาจมีการตัดเอาเนื้อเยื่อออกมาเล็กน้อยเพื่อทำการตรวจสอบให้รู้ชัดวว่าการอักเสบนั้นมีสาเหตุมาจากสิ่งมีชีวิต โรคภูมิแพ้ มะเร็ง หรือการเปลี่ยนแปลงก่อนมะเร็ง
โรคภูมิแพ้ อาจทำการทดสอบบางอย่างเพื่อตรวจสอบความไวต่อสารก่อภูมิแพ้อย่างน้อย 1 อย่างของผู้ป่วย ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับการทดสอบผิวหนัง การตรวจเลือด หรือการหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของการแพ้
ข้อเท็จจริงของหลออาหารอักเสบ
-
ผู้ป่วยโรคหลอดอาหารอักเสบจำนวน 2 – 5 % พบในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
-
ผู้ได้รับการพยากรณ์โรคว่ามีภาวะหลอดอาหารอักเสบ มักมีอาการโดยทั่วไปเป็นปกติดี
-
หลอดอาหารอักเสบอาจมีสาเหตุจากโรคภูมิแพ้บางชนิด
-
ผู้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดอาหารอักเสบเพิ่มขึ้น
-
การรักษาโรคหลอดอาหารอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค
นี่คือแหล่งที่มาของบทความของเรา
-
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/esophagitis/symptoms-causes/syc-20361224
-
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10138-esophagitis
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก