อารมณ์แปรปรวน (Mood Swings) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างที่ฉับพลันหรือรุนแรง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนอาจเปลี่ยนจากความรู้สึกมีความสุขและอารมณ์ดี ไปสู่ความรู้สึกเศร้า หงุดหงิด หรือโกรธได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ
และต่อไปนี้ จะพูดถึงสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการอารมณ์แปรปรวนในคนหลาย ๆ กลุ่ม ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และพูดถึงตัวเลือกวิธีการรักษา และเคล็ดลับในการป้องกันอีกด้วย
สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน
โรคอารมณ์แปรปรวนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต
บ่อยครั้งที่ รูปแบบการดำเนินชีวิตมีส่วนทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนได้ นอกจากนี้ หลายคนยังมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วผิดปกติ เมื่อ:
-
ประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่ เช่น ต้องย้ายบ้าน ย้ายที่อยู่ หรือต้องเปลี่ยนงาน
-
รู้สึกเครียดหรือความวิตกกังวล เพราะมีอะไรต้องทำเยอะไปหมด
-
นอนหลับไม่เพียงพอ
-
การรับประทานอาหารที่ดีมีโภชนการต่อสุขภาพไม่เพียงพอ
-
ใช้ยาที่ส่งผลต่ออารมณ์หรือการนอนหลับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวนบ่อย ๆ และรุนแรงขึ้นอาจบ่งบอกว่า กำลังมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ โรคบางอย่างที่ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนอาจส่งผลต่อทั้งผู้ชายและผู้หญิงได้ ในขณะที่ บางโรคอาจมีผลต่อผู้หญิงเท่านั้น
ภาวะอารมณ์แปรปรวนในผู้ชายและผู้หญิง
โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งสองเพศโดยทั่วไป ได้แก่ :
โรคไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่ผู้ป่วยประสบกับอารมณ์แปรปรวนแบบสุดขั้ว (อารมณ์คลื้นเครง) และหดหู่มาก ๆ (ภาวะซึมเศร้า) อารมณ์แปรปรวนที่ขึ้น ๆ ลง ๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อย หรือหลายครั้งในแต่ละปี
โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนกว่า 16.1 ล้านคน โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา และพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะรู้สึกเศร้าอย่างต่อเนื่อง และสูญเสียความสนใจในสิ่งที่ตัวเองชอบ
อาการซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับบุคคลรอบข้าง คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีภาวะจิตใจตกต่ำหลายครั้งในช่วงชีวิต อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ก็ยังเป็นคนปกติที่มีความสุขได้ และอารมณ์ดีได้ สลับกับการเป็นโรคซึมเศร้า
โรคไบโพลาร์แบบอ่อน
โรคไบโพลาร์แบบอ่อน หรือ โรคไซโคลไทเมีย ผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์แปรปรวนระหว่างความรู้สึกครื้นเครงและซึมเศร้าที่ไม่รุนแรง แต่ก็มากกว่าคนปกติทั่วไป ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์แบบอ่อนจะคล้ายกับโรคไบโพลาร์ แต่รุนแรงน้อยกว่าและเกิดขึ้นไม่บ่อย
โรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง (PDD)
ภาวะซึมเศร้าประเภทนี้เคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ โรคประสาทซึมเศร้า คนที่มีภาวะ โรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง มักมีภาวะจิตใจตกต่ำเป็นเวลานาน หรืออย่างน้อยก็ 2 ปี เป็นอย่างต่ำ
โรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังไม่รุนแรงเท่าโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้ป่วยอย่างมาก
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD)
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งอาจมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรง และมีปัญหาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง และอาจมีปัญหาในการจัดการพฤติกรรมของตนเอง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งจะกลัวการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ให้มั่นคงได้
งานวิจัยบางชิ้นพบว่า คนทั่วไปราว 5.9% จะป่วยเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
โรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตอื่น ๆ
ความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนหรือที่เรียกว่าโรคจิตทางอารมณ์ เช่น :
-
โรคจิตเภท: ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะเห็นภาพหลอนหรือภาพลวงตา ที่ทำให้พวกเขาเห็นภาพที่แตกต่างไปจากโลกแห่งความเป็นจริง โรคจิตเภทส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
-
โรคสมาธิสั้น (ADHD): เด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นสามารถรับมือกับอารมณ์ตัวเองได้ แต่ก็จะนำไปสู่ภาวะอารมณ์แปรปรวนในที่สุด ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นจะมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ เป็นคนหุนหันพลันแล่น สมาธิสั้น และจดจ่ออยู่กับอะไรได้ไม่นาน
-
โรคความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ (DMDD): โรคความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์เป็นโรคที่เกิดในวัยเด็ก โดยเด็กจะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง รวมถึง รู้สึกโกรธ รู้สึกหงุดหงิดมาก ๆ และมีอารมณ์แปลปรวนแบบสุดขั้ว ทั้งนี้ อาการเหล่านี้จะอยู่นานถึง 12 เดือน ขึ้นไป
การติดสารเสพติด
การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดในปริมาณมากและต่อเนื่องอาจส่งผลต่อสุขภาพจิต ในบางรายจะมีอารมณ์รุนแรง โมโหง่าย และควบคุมอารมณ์ไม่ได้
ความเจ็บป่วยทางร่างกาย
ความเจ็บป่วยทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย อาจมีผลกระทบอย่างมากต่ออารมณ์ของผู้ป่วย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยตรง (ผ่านการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือการทำงานของสมอง) หรือทางอ้อม (โดยกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล)
ตัวอย่างของความเจ็บป่วยทางร่างกายที่อาจทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ได้แก่ :
-
โรคหลอดเลือดหัวใจ
-
โรคลมบ้าหมู
-
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS)
-
โรคไขข้ออักเสบ
-
ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
สาเหตุของอารมณ์แปรปรวนในผู้หญิง
ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงและไม่คงที่อาจทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะ ในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ และวัยหมดประจำเดือน
สาเหตุทั่วไปของอารมณ์แปรปรวนในผู้หญิง ได้แก่ :
มีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS)
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ก่อนมีประจำเดือน เช่น:
-
อารมณ์เเปรปรวน
-
เจ็บเต้านม
-
ภาวะซึมเศร้า
-
เมื่อยล้า
-
อยากอาหาร
กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (PMDD)
กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (PMDD) เป็นรูปแบบกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ที่รุนแรงขึ้น โดยผู้หญิงมากถึง 5% ในวัยเจริญพันธุ์จะมีภาวะนี้ ทั้งนี้ มักเกิดร่วมกับภาวะซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล
อาการต่าง ๆ ได้แก่ อารมณ์เปลี่ยนแปลงสุดขั้ว มีอารมณ์หงุดหงิดต่อเนื่อง หรือ อารมณ์โกรธ และมีภาวะซึมเศร้า หรือ มีอารมณ์วิตกกังวล นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดอาการทางกายภาพที่คล้ายคลึงกับมีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน
อารมณ์แปรปรวนในระหว่างตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในคุณแม่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนอย่างกะทันหัน ตลอดจนเกิดความรู้สึกวิตกกังวลและรู้สึกอ่อนไหว การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอาจส่งผลต่ออารมณ์ของผู้หญิงด้วย
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เหล่านี้อาจชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก และลดระดับลงเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับระดับฮอร์โมนที่ไม่คงที่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวนตลอดช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ได้
วัยหมดประจำเดือน
วัยหมดประจำเดือนเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้หญิง เกิดขึ้นเมื่อรอบเดือนสิ้นสุดลง ซึ่ง โดยปกติแล้วจะเกิดกับผู้หญิงในอเมริกาเหนือที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 58 แต่อายุเฉลี่ยที่ 51 ปี
จากข้อมูลของสมาคมสตรีวัยหมดประจำเดือนแห่งอเมริกาเหนือ (North American Menopause Society) ระบุว่า ผู้หญิงมากถึง 23% มีอารมณ์แปรปรวนในระหว่างหรือหลังวัยหมดประจำเดือน อาการอื่น ๆ ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ มีปัญหาการนอนหลับ และไม่มีความต้องการทางเพศ
การรักษาภาวะอารมณ์แปรปรวน
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและไม่รุนแรง ถึงปานกลาง และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนรุนแรงหรือเกิดขึ้นต่อเนื่องอาจมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่อาจต้องเข้ารับการรักษา ทั้งนี้ การรักษาจะขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวที่มีว่าเป็นโรคอะไร ซึ่ง ตัวเลือกการรักษา ได้แก่ :
การบำบัดทางจิต
หากภาวะอารมณ์แปรปรวนเป็นผลมาจากภาวะสุขภาพจิต การบำบัดอาจช่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือความสัมพันธ์ การบำบัดสามารถช่วยผู้ป่วยได้ :
-
ช่วยจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น
-
ช่วยแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน
-
เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม
-
เรียนรู้ทักษะการเผชิญปัญหาที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม
-
ปรับปรุงทักษะการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาความสัมพันธ์
การบำบัดยังช่วยให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายเรื้อรัง หรือระยะสุดท้ายจัดการกับสถานการณ์และจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น
การรักษาด้วยยา
บางครั้งวิธีแก้อารมณ์แปรปรวนอาจจะต้องใช้ยา โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือโรคจิตเภท ซึ่งอาจทำให้อารมณ์แปรปรวนได้ ตัวเลือกเหล่านี้ ได้แก่ :
-
ยาต้านความวิตกกังวล
-
ยาแก้ซึมเศร้า
-
ยารักษาโรคจิต
-
อุปกรณ์ช่วยการนอนหลับ
การรักษาสภาพร่างกาย เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ด้วยยาอาจช่วยลดอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน
การปรับรูปแบบการใช้ชีวิต
การปรับรูปแบบการใช้ชีวิตไม่ว่าจะทำเพียงอย่างเดียวหรือทำร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ยังสามารถทำกิจกรรมดังต่อไปนี้ได้เพิ่มเติมอีกด้วย เช่น:
-
กำหนดตารางการนอนและตั้งเป้าหมายว่าจะนอน 7 – 9 ชั่วโมงทุกคืน
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้ตรงเวลา
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ
-
จัดการความเครียดด้วยการทำสมาธิ การฝึกจิต โยคะหรืออื่น ๆ
-
จดบันทึกเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และสิ่งกระตุ้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
-
ให้ยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมตามปกติ และติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อไรต้องพบแพทย์
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ หากภาวะอารมณ์แปรปรวนเป็นไปดังต่อไปนี้
-
เกิดขึ้นบ่อย ๆ
-
เริ่มรุนแรงขึ้น
-
เกิดและกินเวลานานขึ้น (นานกว่าสองสามวัน)
-
ส่งผลกระทบต่องาน ความสัมพันธ์ หรือด้านอื่น ๆ ในชีวิต
-
มีพฤติกรรมที่จะทำอะไรที่เสี่ยง
-
คิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
คำแนะนำเพิ่มเติม
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวนอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน หากเกิดอารมณ์แปรปรวน อันเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพจิตหรือสุขภาพร่างกาย ให้รักษาอาการหรือโรคต่าง ๆ เหล่านี้ก่อน เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น
ความผิดปกติทางสุขภาพจิตมักจะตอบสนองต่อจิตบำบัด การใช้ยา การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต หรือสามารถรักษาด้วยวิธีทั้ง 3 อย่างรวมกัน บางครั้ง อาจต้องใช้เวลาในการหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะอารมณ์แปรปรวน
การป้องกัน
มีหลายเทคนิคที่ช่วยให้เรารับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ ซึ่งช่วยป้องกันภาวะอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน ได้แก่:
-
ให้ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ
-
ทานอาหารเพื่อสุขภาพและครบ 5 หมู่
-
นอนหลับให้เพียงพอ
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ
-
หาวิธีจัดการความเครียดและกำจัดต้นเหตุของความเครียด
-
หมั่นเขียนบันทึกถึงสภาพอารมณ์ตัวเองเสมอ
-
สังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อนฝูงตามปกติ
-
เมื่อเกิดอาการเครียด อย่าเก็บไว้คนเดียว ให้พูดคุยกับเพื่อน คนอื่น ๆ หรือศูนย์ช่วยเหลือ
-
หากปัญหาสุขภาพจิตทวีความรุนแรงขึ้น ให้หาวิธีรักษา
-
ให้ปฏิบัติตามแผนการรักษาหลังแพทย์วินิจฉัยโรคสุขภาพจิตอย่างเคร่งครัด
สรุป
อารมณ์แปรปรวนเล็กน้อยถึงปานกลางหรือเป็นครั้งคราวนับว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิต ซึ่งอาจเกิดขึ้นบ่อย ในบางโอกาส เช่น เมื่อชีวิตต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หรือฮอร์โมนไม่คงที่เนื่องจากการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์
ภาวะอารมณ์แปรปรวนที่รุนแรงและกินเวลานาน หรือเกิดขึ้นเป็นประจำ สามารถบ่งชี้ถึงโรคประจำตัวบางอย่างได้ ซึ่งหากเกิดกรณีเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจวินิจฉัยภาวะเหล่านี้และแนะนำแนวทางการรักษาได้
ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองและปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรไทยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันเป็นผู้เขียนหลักของ Club of Thai Health มีงานอดิเรก คือการปลูกสมุนไพรไทย และเพาะพันธุ์พืชหายาก